โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ (Respiratory Disease) คือกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจ โดยแต่ละโรคส่งผลกระทบต่อระบบหายใจต่างกัน เช่น ส่งผลต่อทางเดินหายใจ เนื้อเยื่อปอด และการไหลเวียนของเลือดไปสู่ปอด โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับสารกระตุ้นทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย พันธุกรรม ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ
โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่พบได้บ่อย
โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจอาจเกิดจากทางเดินหายใจตีบแคบหรืออุดตัน ทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดจากความเสียหายที่เนื้อเยื่อปอด ทำให้ปริมาณอากาศเข้าสู่ปอดได้น้อยลง รวมทั้งอาจเกิดจากความเสียหายของหลอดเลือดที่นำพาเลือดที่มีออกซิเจนเข้าสู่ปอด และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปกำจัดได้น้อยลง โดยโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. โรคหืด (Asthma)
โรคหืดเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจเรื้อรัง เกิดจากการอักเสบของหลอดลม ทำให้หลอดลมหดตัวหรือตีบแคบ ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ และนอนหลับไม่สนิท สาเหตุของโรคหืดอาจมาจากการที่คนในครอบครัวเป็นโรคหืด การติดเชื้อ และการได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นควัน ขนสัตว์ และควันบุหรี่
โรคหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยยาที่ใช้รักษาโรคหืดประกอบด้วยยาที่ใช้รักษาอาการหอบหืดเฉียบพลัน และยาที่ใช้รักษาอาการในระยะยาว ซึ่งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเป็นประจำทุกวัน ยารักษาโรคหืดมีทั้งยารับประทานและยาพ่น ผู้ป่วยควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา
2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่เกิดจากปอดได้รับความเสียหายอย่างเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ไอมีเสมหะเรื้อรัง และแน่นหน้าอก สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่หรือยาสูบชนิดต่าง ๆ ส่วนสาเหตุอื่นอาจเกิดจากการได้รับมลภาวะทางอากาศ และสารเคมีอื่น ๆ
การรักษาประกอบด้วยการให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ การหลีกเลี่ยงมลพิษและสารเคมี ร่วมกับการใช้ยา เช่น ยาขยายหลอดลม ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาอื่น ๆ กรณีที่อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การใช้ออกซิเจนบำบัด และการผ่าตัด
3. ปอดอักเสบ (Pneumonia)
ปอดอักเสบ หรือที่คนนิยมเรียกว่าปอดบวมเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือปอดอักเสบติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งปอดอักเสบจากการติดเชื้อจะพบได้บ่อยกว่า โดยมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจากการหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น
การรักษาปอดอักเสบอาจแตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในเบื้องต้นควรดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ และกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
4. หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
หลอดลมอักเสบเป็นการอักเสบและบวมของหลอดลม มีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือแบคทีเรีย ส่วนชนิดเรื้อรังมักเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือการสูดดมควันบุหรี่และมลภาวะในชีวิตประจำวันเป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก มีไข้เล็กน้อย และแน่นหน้าอกwww.pobpad.com/อาการแน่นหน้าอก-สาเหตุแ
โดยทั่วไปหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันสามารถหายเองได้ด้วยการพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่หรือมลภาวะ และการใช้ยา เช่น ยาแก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่หลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และยาอื่น ๆ หากมีโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจอื่น ๆ ร่วมด้วย
5. วัณโรค (Tuberculosis: TB)
วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) มักเกิดขึ้นที่ปอด สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศหรือสัมผัสของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็ก และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย
ในระยะแรกที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย คนที่สุขภาพแข็งแรงมักไม่แสดงอาการ เชื้อจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ระยะถัดไป ที่เรียกว่าระยะแฝง (Latent TB) ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกาย จึงสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้โดยไม่รู้ตัว และเมื่อผ่านไปหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการปรากฏชัดเจน เช่น ไอเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ ไอมีเสมหะหรือปนเลือด มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
ผู้ป่วยวัณโรคจะได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ซึ่งต้องรับประทานทุกวันอย่างน้อย 4–6 เดือน แม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อในร่างกายถูกกำจัดไปจนหมด และป้องกันเชื้อดื้อยา
6. ถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
ถุงลมโป่งพองจัดอยู่ในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการอักเสบและแตกของเนื้อปอดที่บริเวณถุงลมปอด เกิดเป็นถุงลมจำนวนมากและกลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอดลดลง สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองคือการสูบบุหรี่และการสูดดมมลภาวะทางอากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะ หายใจติดขัดหรือมีเสียงหวีด และแน่นหน้าอก
ถุงลมโป่งพองไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยลดหรือชะลออาการไม่ให้รุนแรงขึ้น โดยการเลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมมลภาวะ รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนปอดอักเสบ ซึ่งจะช่วยป้องกันปอดติดเชื้อ และการใช้ยา เช่น ยาขยายหลอดลม ยาสเตียรอยด์ และยาปฏิชีวนะ ควบคู่กับการบำบัด เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การบำบัดด้วยออกซิเจน และการผ่าตัดในกรณีที่อาการรุนแรง
7. กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS)
กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันเกิดจากของเหลวในหลอดเลือดปอดรั่วไหลเข้าไปในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ส่งผลให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง และอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง โดยอาจเกิดจากภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ปอดบวมและโควิด-19 ขั้นรุนแรง และการสูดดมควันบุหรี่หรือสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูง
ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจลำบาก หายใจถี่ ความดันโลหิตต่ำ สับสน และรู้สึกอ่อนเพลียมาก เนื่องจากภาวะนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่รุนแรง การรักษาจะใช้วิธีเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดwww.pobpad.com/ค่าออกซิเจนในเลือด-สำคัให้กลับไปสู่ภาวะปกติ เช่น ใช้หน้ากากออกซิเจนและท่อช่วยหายใจ จากนั้นรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การใช้ยา และการให้สารน้ำ
8. มะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มะเร็งปอดเกิดจากการที่เซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดมีความผิดปกติ สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ สารพิษ และมลภาวะต่าง ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักลด และเหนื่อยง่าย
การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งปอดที่ผู้ป่วยเป็น ระยะและความรุนแรงของมะเร็ง และสภาวะร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งวิธีรักษาอาจได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
9. ภาวะความดันเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
ภาวะความดันเลือดปอดสูงคือภาวะที่ความดันในหลอดเลือดปอดสูงผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดดังกล่าวตีบและเลือดไหลเวียนได้ยาก ปอดและหัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ภาวะความดันเลือดปอดสูงมีหลายประเภทตามสาเหตุของโรค เช่น ความผิดปกติของปอด หัวใจ และโรคอื่น ๆ
ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดง แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยแบ่งได้เป็น 4 ระดับตามความรุนแรงของโรค อาการที่พบบ่อยคือหายใจลำบาก ผิวเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีอาการบวมที่ท้อง แขน และขา หากอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เพราะมีอาการอ่อนเพลียแม้ในขณะพัก
การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของภาวะความดันเลือดปอดสูงที่ผู้ป่วยเป็น ประกอบด้วยการดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยา การให้ออกซิเจน และการผ่าตัด
10. ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
ซิสติก ไฟโบรซิสเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดเมือกเหนียวข้นในอวัยวะต่าง ๆ หากเกิดอาการที่ระบบทางเดินหายใจจะทำให้ผู้ป่วยไอมีเสมหะเรื้อรัง คัดจมูก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย เป็นไซนัสอักเสบและติดเชื้อที่ปอดบ่อย
ซิสติก ไฟโบรซิสจัดเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การรักษาจะช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เช่น การใช้ยา การทำกายภาพบำบัดปอด และการผ่าตัด
แนวทางป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ
การปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพจะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจได้ เช่น
- ไม่สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ควรหาวิธีเลิกบุหรี่ และพยายามหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ซึ่งสารเคมีในบุหรี่อาจทำลายปอด และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจได้หลายโรค
- หลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่น ควัน และมลภาวะทางอากาศ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือทำงานในสถานที่ที่มีมลภาวะ ควรสวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกัน
- ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง และไรฝุ่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศหรือเทียนหอมที่มีสารเคมี เช่น เบนซินและฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ควรเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติแทน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของปอดและหัวใจในการสูบฉีดเลือดและออกซิเจน และช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง
- ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และรับวัคซีนป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิด-19
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อย อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง บางโรคสามารถรักษาให้หายได้ แต่บางโรคอาจต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจลำบากหรือมีเสียงหวีด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้นและการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา