10 วิธีแก้ปวดฉี่บ่อย ฝึกไว้ได้ผลจริง

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยเป็นสิ่งที่คนที่ปวดปัสสาวะบ่อยและต้องเข้าห้องน้ำเป็นประจำควรรู้และฝึกฝนไว้ ซึ่งโดยปกติแล้ว คนเราจะปัสสาวะประมาณ 6–7 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หากปัสสาวะบ่อยกว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ซึ่งในเบื้องต้นสามารถรับมือได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การเข้าห้องน้ำ การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม และการออกกำลังกาย

ปวดฉี่บ่อยเป็นความผิดปกติที่ทำให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวันหรือเป็นเฉพาะเวลากลางคืน สาเหตุของการปวดฉี่บ่อยที่พบบ่อยคือทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection) ที่ทำให้ปัสสาวะแสบขัด รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การดื่มน้ำมากเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ การตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิด

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อย

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยด้วยตัวเอง

การปรับพฤติกรรมจะช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะบ่อยนเบื้องต้น และเป็นการฝึกให้ถ่ายปัสสาวะในช่วงเวลาและความถี่ที่เหมาะสม ซึ่งวิธีแก้ปวดฉี่บ่อยมีหลายวิธี เช่น

1. ควบคุมปริมาณการดื่มน้ำ

การดื่มน้ำปริมาณมากเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉี่บ่อย คนที่มีปัญหาฉี่บ่อยหรือปวดฉี่ตอนกลางคืนหลายครั้ง ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเท่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่ได้ออกแรงมากหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรดื่มประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หรือปริมาณ 8 แก้วก็เพียงพอสำหรับการป้องกันภาวะขาดน้ำและท้องผูก 

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยคือไม่ควรดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ให้จิบบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน และงดการดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง

2. กำหนดเวลาการไปเข้าห้องน้ำ

บางครั้งการปวดฉี่บ่อยอาจเกิดจากความวิตกกังวลแม้จะเพิ่งเข้าห้องน้ำไปได้ไม่นาน เช่น ควรจะรีบเข้าห้องน้ำไว้ก่อน เพราะไม่รู้จะได้เข้าอีกเมื่อไร ซึ่งอาจสังเกตได้ว่าปัสสาวะออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยในกรณีนี้คือการกำหนดเวลาที่ควรเข้าห้องน้ำ ไม่ควรไปห้องน้ำทันที แต่ควรรอให้ปวดจริง ๆ แล้วค่อยไป หากเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมง ให้ลองบวกเวลาไปอีก 10–15 นาที และเมื่อเริ่มชินแล้วอาจจะเพิ่มระยะห่างของการไปเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น

3. ประคบร้อน

การประคบร้อนบริเวณท้องส่วนล่าง ซึ่งเป็นตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะ จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และลดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดฉี่บ่อยและปวดท้องจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

4. ฉี่ให้สุด

ขณะปัสสาวะทุกครั้ง ควรนั่งลงและผ่อนคลายร่างกาย ไม่ควรรีบปัสสาวะ ควรรอจนปัสสาวะออกมาจนหมดก่อน การปัสสาวะด้วยความเร่งรีบจะทำให้มีปัสสาวะตกค้างในทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ปวดฉี่บ่อยและต้องเข้าห้องน้ำถี่ขึ้น

5. เบี่ยงเบนความสนใจขณะกลั้นฉี่

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยวิธีนี้ทำได้โดยการกลั้นปัสสาวะป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 นาทีเมื่อรู้สึกปวด โดยหาสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น นับเลข 1–100 ในใจช้า ๆ ขณะท่องในใจว่าค่อยไปห้องน้ำในอีก 5 นาที เดินไปห้องน้ำให้ช้าลง หรือนั่งบนเก้าอี้แล้วก้มตัวลงคล้ายผูกเชือกรองเท้า จะช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น

6. ปรับเปลี่ยนอาหารและเครื่องดื่ม

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยอีกวิธีคือการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดฉี่บ่อย เช่น อาหารประเภทซุป ก๋วยเตี๋ยว และและแกงจืดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ผักผลไม้ที่มีน้ำเยอะ เช่น มะเขือเทศ แตงกวา ส้ม แตงโม แคนตาลูป เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต รวมถึงอาหารรสเผ็ดจัด

7. ฝึกบริหารอุ้งเชิงกราน

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercises) เป็นวิธีแก้ปวดฉี่บ่อยที่ทำได้เองที่บ้านทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะแข็งแรง รวมทั้งช่วยให้ควบคุมการปัสสาวะได้ดีขึ้น โดยนอนราบกับพื้นแล้วฝึกขมิบคล้ายกำลังกลั้นปัสสาวะ ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วคลายออก พัก 10 วินาที ทำซ้ำ 3–4 ครั้งต่อวัน

8. ควบคุมน้ำหนักตัว

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการปวดฉี่บ่อยได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากอาจกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดฉี่และอยากเข้าห้องน้ำบ่อย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

9. ป้องกันไม่ให้ท้องผูก

การป้องกันไม่ให้ท้องผูกเป็นวิธีแก้ปวดฉี่บ่อยที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน อาการท้องผูกจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะปวดฉี่บ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งสามารถป้องกันการท้องผูกได้โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้และธัญพืชขัดสีน้อยที่มีไฟเบอร์สูง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

10. ใช้ยาแก้ปวด

วิธีแก้ปวดฉี่บ่อยสำหรับคนที่มีอาการปวดท้องและรู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ซึ่งใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล คือการใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ปวดหลัง และลดไข้

หากทำตามวิธีแก้ปวดฉี่บ่อยเหล่านี้แล้วยังมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการปวดฉี่บ่อยที่เกิดจากการใช้ยา หรือมีอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น มีไข้ กระหายน้ำมาก ปวดหลังส่วนล่างและด้านข้าง อาเจียน เจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะขุ่นหรือปนเลือด ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ใช้แผ่นรองซึมซับปัสสาวะ ให้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการ ใส่อุปกรณ์ควบคุมการปัสสาวะ และผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบ