11 อาการโรคไตที่ควรสังเกต

อาการโรคไตอาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยในช่วงแรก และอาการจะชัดเจนขึ้นเมื่อโรคเข้าสู่ระยะท้ายแล้ว แต่ผู้ป่วยหลายคนอาจสังเกตได้ว่าตัวเองมีอาการโรคไตเกิดขึ้นตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของโรคได้เช่นเดียวกัน 

ไตเป็นอวัยวะในระบบขับถ่ายที่ทำหน้าที่ในการฟอกเลือดและขับของเสียในร่างกายออกมาในรูปของปัสสาวะ หากไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจะส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจนำไปสู่ภาวะไตวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การคอยสังเกตอาการโรคไตจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบอาการของตัวเอง เพื่อไปพบแพทย์และรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ

อาการโรคไต

อาการโรคไตที่อาจพบได้

อาการโรคไตในระยะแรกอาจสังเกตได้ยาก เพราะอาการมักจะชัดเจนเมื่อโรคเข้าสู่ระยะหลัง ๆ แล้ว และอาการอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เนื่องจากไตสามารถปรับการทำงานเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และทำให้ไตสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคไตอาจสังเกตสัญญาณที่บ่งชี้โรคไตได้จากอาการเหล่านี้

1. ความผิดปกติของปัสสาวะ

อาการโรคไตที่อาจสังเกตได้ในระยะแรก ๆ คือความผิดปกติของปัสสาวะ โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการต่างกัน เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เนื่องจากการกรองของเสียในไตทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงอาจกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยหรือเพิ่มขึ้นได้
  • ปัสสาวะเป็นฟอง ซึ่งเกิดจากการที่ไตไม่สามารถกรองโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ทำให้โปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ กลายเป็นฟองสีขาว
  • ปัสสาวะมีเลือดปน เกิดจากการที่ไตกรองของเสียได้ไม่ดี ทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดปนออกมาในปัสสาวะ
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ

2. อาการบวมตามร่างกาย

อาการบวมน้ำเป็นอาการโรคไตที่ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นได้ เพราะโรคไตอาจทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการกรองโซเดียมหรือเกลือในร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมและบวมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ ขา ข้อเท้า และเท้า

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตอาจมีตาบวม โดยเฉพาะในตอนเช้า ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการกรองของเสียในไต ทำให้มีโปรตีนรั่วเข้าไปในปัสสาวะมากขึ้น และทำให้โปรตีนในเลือดลดลง การขาดโปรตีนอาจทำให้หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น และเกิดอาการบวมที่รอบดวงตา

3. อ่อนเพลีย

อาการโรคไตที่อาจเกิดขึ้นได้คืออ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และไม่มีแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อไตทำงานลดลงอย่างรุนแรง ทำให้เกิดสารพิษและของเสียสะสมในเลือด นำไปสู่อาการเหนื่อยล้า และส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีสามาธิจดจ่อกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ อาการอ่อนเพลียของผู้ป่วยโรคไตอาจเกิดจากการนอนไม่หลับ หรือโลหิตจางได้

4. ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง เลือดที่จะไหลเวียนไปยังไตจึงมีปริมาณน้อยลง ทำให้ไตไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารในเลือดที่เพียงพอต่อการทำงานของไต และทำให้ความสามารถในการกรองของเสียและน้ำส่วนเกินออกทางปัสสาวะน้อยลง การสะสมของน้ำในร่างกายจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

หากไตได้รับความเสียหายมาก จะยิ่งไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายได้

5. โลหิตจาง (Anemia)

โดยปกติแล้ว ไตจะสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่าอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin: EPO) ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หากไตทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร การสร้างฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินจะลดลง จะส่งผลให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง และภาวะโลหิตจางตามมา 

ภาวะโลหิตจางจึงเป็นอาการโรคไตที่ควรสังเกต หากมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เวียนหัว ปวดหัว ผิวซีด หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

6. ปัญหาการนอนหลับ

อาการโรคไตอาจมาในรูปแบบของปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เนื่องจากไตกรองของเสียและสารพิษได้ไม่ดี ทำให้นอนหลับยากและนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตมักมีโรคอื่นที่ส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ เช่น โรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)

7. ความผิดปกติของผิว

อาการโรคไตอาจมีผลต่อผิว เพราะไตทำหน้าที่รักษาปริมาณแร่ธาตุในเลือดให้เหมาะสม หากไตเกิดความเสียหาย จะไม่สามารถกรองของเสียและแร่ธาตุฟอสฟอรัสออกไปได้เท่าที่ควร เมื่อมีฟอสฟอรัสสะสมอยู่มาก จะทำให้มีอาการคันที่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ

เมื่ออาการโรคไตรุนแรงขึ้น อาจทำให้ผิวซีดลง เข้มขึ้น หรือสีผิวเปลี่ยนไป ผิวหนังบางบริเวณเกิดผื่นหรือตุ่มนูน ผิวหนาขึ้นเป็นปื้นหยาบ และรอยเส้นลึกที่ผิวหนังได้

8. การเปลี่ยนแปลงของเล็บ

หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของไตคือช่วยรักษาความแข็งแรงของกระดูก อาการโรคไตจึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่เล็บ เช่น เกิดแถบสีขาวที่เล็บ โดยอาจกินพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของเล็บ (Half-and-half Nails) หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีขาวที่เล็บ (Muehrcke's Nails) ซึ่งอาจเกิดจากการมีโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ

9. ความอยากอาหารและการรับรสเปลี่ยนไป

อาการโรคไตอาจส่งผลให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน เนื่องจากมีของเสียและสารพิษสะสมในร่างกาย รวมทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตระยะท้ายบางคนสูญเสียการรับรส มีอาการขมปากหรือรับรสหรือมีกลิ่นโลหะในปาก เนื่องจากการสะสมของของเสีย เช่น ยูเรีย ในร่างกายจะส่งผลต่อการทำงานของต่อมรับรสชาติ

10. อาการปวดและหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

การทำงานผิดปกติของไตจะส่งผลต่อระดับแร่ธาตุในร่างกาย เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัสต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้เป็นตะคริว ซึ่งเป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รู้สึกเจ็บเหมือนเข็มทิ่มที่แขนและขา รวมถึงอาจทำให้ปวดขาและปวดหลังส่วนล่างใต้ซี่โครง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรงกับไต

11. เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก

เจ็บหน้าอก และหายใจลำบากเป็นอาการโรคไตที่มักพบในผู้ป่วยระยะท้าย ๆ โดยเกิดจากการมีน้ำปริมาณมากสะสมในปอดและรอบ ๆ เยื่อหุ้มหัวใจ

อาการโรคไตของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนที่เป็นโรคไตระยะแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ ข้างต้นเลยจนกว่าจะเข้าสู่ระยะรุนแรงของโรค นั่นคือหลังจากไตเกิดความเสียหายอย่างหนักไปแล้ว ดังนั้น หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการโรคไต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการรักษาเร็ว อาจช่วยชะลอความเสียหายและความรุนแรงของโรคไตได้

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ คนในครอบครัวมีประวัติโรคไต และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตมากกว่าคนทั่วไป ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติของไต จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที