ริดสีดวง (Hemorrhoids) เป็นโรคที่เกิดจากการที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวม ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยรู้สึกปวด คัน และอาจมีเลือดออกที่บริเวณดังกล่าวได้ โดยโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย การเรียนรู้วิธีรักษาริดสีดวงเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน
ริดสีดวงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด ได้แก่ ริดสีดวงชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids) ที่เป็นชนิดที่เกิดบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ และริดสีดวงชนิดภายนอก (External Hemorrhoids) ที่เกิดบริเวณทวารหนัก โดยผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เอง เพียงแค่ต้องรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้อง ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาได้จากในบทความนี้
รู้จักริดสีดวง โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
ก่อนจะทำความรู้จักวิธีรักษาริดสีดวง ควรทราบก่อนว่า ริดสีดวงเกิดจากอะไรและมีอาการแบบไหนบ้าง โดยในด้านสาเหตุ ริดสีดวงเป็นผลมาจากการที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายได้รับแรงกดทับ จนหลอดเลือดดำบริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบและบวม
โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดก็เช่น การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก การนั่งท่าเดิมติดต่อกันนาน ๆ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง และการยกของหนัก ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดริดสีดวงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ อายุที่เพิ่มขึ้น หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีใยอาหาร
อาการริดสีดวงอาจจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดริดสีดวง โดยในกรณีที่ริดสีดวงเกิดบริเวณทวารหนัก ผู้ป่วยจะพบอาการคันและเจ็บบริเวณทวารหนัก คลำพบก้อนเนื้อบริเวณรูทวาร รวมถึงอาจมีเลือดออกร่วมด้วย
หากริดสีดวงเกิดบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยมักไม่พบอาการปวดหรืออาการผิดปกติใด ๆ บริเวณทวารหนัก แต่อาจจะพบเลือดปนออกมากับอุจจาระได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้บางรายอาจพบว่าริดสีดวงที่อยู่บริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่เกิดการปลิ้นออกมาผ่านทางรูทวาร ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดรุนแรงได้
วิธีรักษาริดสีดวง ทำอย่างไรได้บ้าง
ในเบื้องต้น ผู้ที่เป็นริดสีดวงอาจลองนำรักษาริดสีดวงด้วยตัวเองก่อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาที่ซื้อเองได้จากร้านขายยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการจากริดสีดวงมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์
แต่หากลองทำแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรืออาการกระทบการนอนและการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์อาจสั่งยารักษาริดสีดวงที่เหมาะกับแต่ละคน แนะนำให้ผ่าตัด หรือการใช้เลเซอร์เพื่อรักษาริดสีดวง
โดยวิธีการรักษาริดสีดวง ทั้งการรักษาด้วยตัวเองและวิธีที่แพทย์อาจแนะนำก็เช่น
- นั่งแช่ในน้ำอุ่นที่ผสมด่างทับทิมเล็กน้อยเป็นระยะเวลา 10–20 นาที/วัน
- ประคบเย็นวันละ 2–3 ครั้ง ครั้งละ 10–15 นาที เพื่อบรรเทาอาการ์ปวด บวม และคัน
- ทายาหรือเหน็บยารักษาริดสีดวงที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่ควรปรึกษาเภสัชกรก่อน เพื่อความปลอดภัย
- รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ทาว่านหางจรเข้บริเวณที่เกิดริดสีดวง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ
- รับประทานไซเลียม ฮัสค์ (Psyllium husk) หรือเทียนเกล็ดหอย เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มลง
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดขณะอุจจาระได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น
- การใช้ยา โดยอาจเป็นได้ทั้งชนิดทา ชนิดรับประทาน และชนิดสอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- การผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีนี้เพื่อกำจัดลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือด
- การใช้ยางรัดติ่งริดสีดวงหรือฉีดยาบริเวณริดสีดวง เพื่อให้ติ่งริดสีดวงฝ่อ
- การใช้เลเซอร์หรือความร้อนกำจัดริดสีดวง
ทั้งนี้ วิธีต่าง ๆ ในข้างต้นเป็นเพียงวิธีรักษาริดสีดวงเท่านั้น ซึ่งโรคนี้อาจกลับมาเกิดซ้ำได้ การป้องกันตัวเองจากริดสีดวงจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น การดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่อั้นอุจจาระ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน