3 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ก่อนชงนมให้ลูกน้อย

การชงนมให้ลูกน้อยอาจเป็นเรื่องง่าย แต่ที่จริงแล้วมีรายละเอียดยิบย่อยและข้อควรระวังไม่น้อย หากละเลยไปก็อาจกระทบต่อสุขภาพของลูกได้ คุณพ่อ คุณแม่ รวมถึงคนในครอบครัวควรให้ความสำคัญกับการชงนมในทุกขั้นตอน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูกในทุก ๆ วัน

เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่ ความสะอาด ถูกหลักอนามัย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการชงนมให้ลูกน้อย มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคจนเกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสียตามมา บทความนี้จะมาช่วยปูพื้น 3 เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ก่อนชงนมให้ลูกกัน

Prepare infant formula

1. นมสำหรับทารก

แม้นมแม่จะเป็นนมที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน แต่คุณแม่บางรายอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปให้นมสำหรับทารกแทน 

นมสำหรับทารกนั้นมีหลายยี่ห้อ หลายสูตร หลายรูปแบบทั้งชนิดผงและชนิดละลายน้ำเข้มข้น อีกทั้งสัดส่วนนมและน้ำที่ใช้ก็ต่างกันไป จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับสูตรนมและสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุของเด็ก และต้องไม่ลืมอ่านข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ละเอียดแล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในแต่ละวัน ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป 

การซื้อนมสำหรับทารกยังต้องพิจารณาถึงวันหมดอายุ บรรจุภัณฑ์ปิดได้สนิท ไม่มีรอยแตก รั่ว บุบ บวม หรือขึ้นสนิม หากบรรจุภัณฑ์มีความผิดปกติอื่นใดหรือนมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ควรนำไปใช้ชงนมให้ลูก

นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการทำนมผงด้วยตัวเอง เนื่องจากนมที่ได้อาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อตัวเด็ก อาทิ มีปริมาณแคลเซียมต่ำหรืออาจมีปริมาณสารอาหารบางประเภทมากจนเกินไป และอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนได้ง่ายกว่าปกติ จึงอาจเป็นอันตรายต่อตัวเด็กได้

2. น้ำชงนม

น้ำที่ใช้ชงนมก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้สำคัญเช่นกัน เพราะการใช้น้ำที่ไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือท้องเสีย การชงนมควรใช้น้ำต้มสุกที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนอยู่ในนมผงด้วยอีกทาง และไม่ควรทิ้งน้ำให้เย็นนานเกิน 30 นาที

ในกรณีที่ไม่สะดวกในการต้มน้ำหรืออยู่นอกบ้านที่ไม่มีอุปกรณ์พร้อม สามารถเลือกใช้น้ำสเตอไรล์ (Sterile Water) ซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองและฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ทำให้ใช้ผสมกับนมผงได้ทันที แต่ควรระมัดระวังไม่จุ่มอุปกรณ์ใด ๆ ลงไปในขวดน้ำสเตอไรล์ หากเปิดใช้งานแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 3 วัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในน้ำ

สำหรับการใช้น้ำดื่มบรรจุขวดมาชงนมให้กับลูกก็อาจทำได้ แต่หลายยี่ห้อมักไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อใด ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย และเด็กอาจได้รับฟลูออไรด์เกินได้ เพราะนมผงทั่วไปมักผสมฟลูออไรด์อยู่แล้ว อีกทั้งไม่ควรใช้น้ำแร่มาชงนม เพราะอาจมีปริมาณโซเดียมและแร่ธาตุบางชนิดมากจนเกินไป

3. อุปกรณ์ในการชงนม

หลายคนอาจไม่ทราบว่าก่อนนำขวดนม จุกนม หรืออุปกรณ์ในการชงนมอื่น ๆ มาใช้งานเป็นครั้งแรกควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเป็นระยะเวลาประมาณ 5 นาทีเสียก่อน โดยอาจเป็นการต้มด้วยหม้อธรรมดา นึ่งด้วยอุปกรณ์นึ่งในเครื่องไมโครเวฟ หรือใช้เครื่องสำหรับฆ่าเชื้อโดยเฉพาะก็ได้ ครั้งถัดไปจึงทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ตามปกติ 

ความสะอาดเป็นหัวใจของการชงนมให้กับลูกน้อย ก่อนจะเริ่มขั้นการเตรียมชงนมหรือป้อนนมลูกควรล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอ หากพบความผิดปกติของนมหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการชงนมและดื่มนมชำรุดเสียหายก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ และเมื่อชงนมแล้วก็ควรใช้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังเตรียมนมหรือภายใน 1 ชั่วโมงหลังป้อนนมเด็ก หากทิ้งไว้นานกว่านี้ไม่ควรนำกลับมาป้อนให้เด็กใหม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของตัวเด็ก

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการชงนม การเลือกซื้อนม น้ำชงนม หรืออุปกรณ์ในการชงนมและดื่มนม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือเข้าร่วมการอบรมจากสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมความเข้าใจตั้งแต่แรกเริ่มนี้จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และปลอดภัยไปพร้อมกัน

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD 

อัพเดทล่าสุด 23 มิ.ย. 2565 

ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นงนภัส เก้าเอี้ยน 

เอกสารอ้างอิง 

  • Centers for Disease Control and Prevention (2022). Choosing an Infant Formula.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2022). Infant Formula Preparation and Storage.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2016). Introduction, Methods, Definition of Terms. Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2015). Infant Formula.
  • Health Service Executive Ireland (2018). Preparing Baby Formula.
  • National Health Service England (2019). How to Make Up Baby Formula.
  • National Health Service England (2019). Types of Formula.
  • สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, โครงการ “การจัดทำข้อปฏิบัติการให้อาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและเด็กวัยก่อนเรียน” (2009). คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก.
  • Gavin, M. Kidshealth (2021). Formula Feeding FAQs: Preparation and Storage.
  • Cleveland Clinic (2021). Feeding Your Infant: How to Prepare and Store Baby Formula.
  • Mayo Clinic (2022). Infant Formula: 7 Steps to Prepare It Safely.
  • Abrams, S. Healthy Children (2022). Is Homemade Baby Formula Safe?.
  • Iftikhar, N. Healthline (2020). Water for Formula: Which Type Should You Use?.
  • White, J. Verywell Family (2022). Water for Formula: What to Use.
  • Iannelli, V. Verywell Family (2021). How to Prepare Baby Formula.