4 วิธีบรรเทาอาการปวดฟันคุดด้วยตัวเอง

ปวดฟันคุดเป็นปัญหาทางทันตกรรมที่อาจทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความเจ็บปวด อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเคี้ยวหรือการพูดคุย ซึ่งนอกจากจะรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยการถอนฟันโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เรายังสามารถบรรเทาอาการปวดฟันคุดในเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ 

การปวดฟันคุดนั้นเป็นสัญญาณของฟันกรามซี่ในสุดที่ไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาได้ตามปกติ หรือขึ้นในองศาที่ผิดจนกระทบต่อเหงือกหรือฟันซี่อื่น อาจส่งผลให้สุขอนามัยในช่องปากไม่ดี และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในช่องปาก เช่น ปวดฟัน มีกลิ่นปาก การติดเชื้อในช่องปาก ฟันผุ โรคเหงือกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือถุงน้ำบริเวณกระดูกขากรรไกร

Relieve Wisdom Tooth Pain

ปวดฟันคุดบรรเทาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

โดยทั่วไป ทันตแพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่ปวดฟันคุดเข้ารับการถอนฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยในระหว่างที่เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของฟันหรือยังไม่ถึงกำหนดถอนฟัน หากอาการปวดฟันคุดส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันหรือทำให้รำคาญใจ ผู้ป่วยอาจเลือกบรรเทาอาการในเบื้องต้นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ

การมีสุขอนามัยในช่องปากที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ปัญหาสุขภาพในช่องปากของเราลดน้อยลงได้ การกลั้วปากด้วยน้ำเกลือก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องปากมีสุขอนามัยที่ดีได้ โดยมีส่วนช่วยให้ปากสะอาดยิ่งขึ้น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดไม่ดีในช่องปาก ช่วยให้แผลในช่องปากทุเลาลง รวมถึงบรรเทาอาการปวดฟัน 

ผู้ที่มีอาการปวดฟันคุดสามารถกลั้วปากด้วยน้ำเกลือได้ทั้งก่อนและหลังการแปรงฟัน โดยควรกลั้วให้ทั่วปากแล้วอมทิ้งไว้ประมาณ 15–20 วินาทีจึงค่อยบ้วนทิ้ง ทั้งนี้ ก่อนการใช้น้ำเกลือควรสังเกตภายในบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด ไม่ควรนำมาใช้หากพบสิ่งแปลกปลอมหรือพบว่าน้ำเกลือมีลักษณะที่ต่างไปจากเดิม

2. ประคบเย็น ประคบร้อน

การประคบเย็นเป็นวิธีช่วยลดอาการปวดและบวมด้วยการนำเจลเย็นหรือถุงน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูมาประคบบริเวณแก้มหรือขากรรไกรข้างที่ปวดฟันคุด ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวและอาจรู้สึกชาที่ผิวหนัง ในขณะที่การประคบร้อนด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ถุงน้ำร้อน หรือแผ่นแปะให้ความร้อนจะส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ทำให้บรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน

หากประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง ไม่ควรนำมาแนบกับผิวหนังโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวไหม้จากความเย็น (Frostbite) เช่นเดียวกับการประคบร้อนที่ควรระมัดระวัง ไม่ใช้น้ำหรืออุปกรณ์ประคบที่ร้อนจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยไหม้หรือแผลพุพอง 

3. รับประทานยาแก้ปวด 

ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันคุดนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน โดยปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาแต่ละชนิดนั้นจะแตกต่างกันไป ผู้ป่วยจึงควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดหรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนรับประทาน โดยเฉพาะหากมีประวัติทางสุขภาพหรือกำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วย

ยาแก้ปวดทุกชนิดมีข้อจำกัดและอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วพบผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ ควรหยุดใช้ยาแล้วไปปรึกษาเภสัชกรหรือไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

4. ใช้สมุนไพรบรรเทาอาการปวด

ขมิ้นและน้ำมันกานพลูจัดเป็นสมุนไพรที่ว่ากันว่าช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ เนื่องจากสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ในขมิ้น และสารยูจีนอล (Eugenol) ในน้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยลดอาการบวมและอาการปวดฟันคุดที่เกิดขึ้นได้

การใช้ขมิ้นและน้ำมันกานพลูในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย ผู้ที่สนใจใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของขมิ้นและน้ำมันกานพลู เช่น ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก ควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์และใช้ด้วยความระมัดระวังเสมอ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการแพ้สมุนไพรหรือมีโรคประจำตัว

หากลองใช้วิธีดังข้างต้นแล้วอาการปวดฟันคุดไม่ทุเลาลง อาการปวดยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น บริเวณที่เกิดฟันคุดทำความสะอาดได้ยากจนอาจทำให้มีสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี หรือพบความผิดปกติภายในช่องปาก ฟัน และเหงือก ผู้ป่วยควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยฟันคุดเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสม