4 วิธีแก้ปวดขา รวมวิธีรักษาเบื้องต้น

วิธีแก้ปวดขามีหลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขา บางครั้งอาการปวดขาอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรืออาจดีขึ้นหากดูแลตัวเองในเบื้องต้น เช่น พักการใช้ขา นวดและประคบแก้ปวด แต่กรณีที่อาการปวดขาไม่ดีขึ้น หรือมีปัจจัยอย่างที่ทำให้มีอาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น ประสบอุบัติเหตุ โรคประจำตัว อาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์

อาการปวดขาเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของขา โดยอาจปวดตั้งแต่บริเวณขาหนีบไปจนถึงข้อเท้า ซึ่งอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด การทราบสาเหตุและวิธีแก้ปวดขาในเบื้องต้นจะช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น

Treat Leg Pain

วิธีแก้ปวดขาเบื้องต้น

อาการปวดขาหลายกรณีมักเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงนัก โดยในเบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

1. ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธี RICE

วิธี RICE (RICE Method) เป็นวิธีแก้ปวดขาเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บกะทันหันจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด บวมแดง และช่วยให้อาการบาดเจ็บหายเร็วขึ้น โดยคำว่า RICE เป็นการเอาพยัญชนะต้นของคำภาษาอังกฤษ 4 คำมารวมกัน ได้แก่

  • Rest คือการพักการออกแรงหรือใช้งานบริเวณที่บาดเจ็บ เช่น ขา หัวเข่า หรือข้อเท้า เป็นเวลา 24–48 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดการลงน้ำหนักบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจทำให้อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้น และอาจเกิดอาการฟกช้ำได้
  • Ice คือการประคบเย็นด้วยน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูหรือเจลเย็น ในช่วง 24–48 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับบาดเจ็บ และประคบไว้ครั้งละ 15–20 นาที ทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง เพื่อลดอาการปวดและบวม
  • Compression คือการใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อป้องกันการบวม โดยพันให้กระชับแต่ไม่ควรรัดแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนของไม่สะดวก หากพบว่าผิวหนังใต้ผ้าพันแผลเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ และรู้สึกชา ให้คลายผ้าที่พันออก
  • Elevation คือการยกขาส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้หมอนรองบริเวณขาให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมที่ขา

หากอาการปวดและบวมไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป

2. การใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง

การใช้ยาแก้ปวดเป็นวิธีแก้ปวดขาที่สามารถทำได้ในเบื้องต้น โดยยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้เองมีทั้งชนิดยาทาและยารับประทาน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว และควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ ดังนี้

  • ยาทาแก้ปวด ชนิดครีมหรือเจล และแผ่นแปะแก้ปวด โดยมีส่วนผสมของไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เมนทอล แคปไซซิน (Capsaicin) และลิโดเคน (Lidocaine)
  • ยาแก้ปวดชนิดรับประทาน เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งนิยมใช้แก้ปวดทั่วไป หากอาการปวดขายังไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้นให้ผู้ป่วยเพื่อรักษาอาการปวดขา

3. การอาบน้ำอุ่น

การอาบน้ำอุ่น และการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือแผ่นประคบร้อนสำเร็จรูปอาจช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่แข็งหรือตึง และช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อขาได้ 

4. การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching)

การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อขาจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และลดอาการปวดตึงขา โดยมีท่าบริหารกล้ามเนื้อขา ดังนี้

ผู้มีอาการปวดต้นขา

ท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่ปวดต้นขา มีหลายท่าทาง เช่น

  • ก้มตัวลงโดยไม่งอเข่า ใช้มือแตะนิ้วเท้าค้างไว้เป็นเวลา 15–30 วินาที และค่อย ๆ กลับมายืนตรงท่าปกติ
  • ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าและย่อเข่าด้านขวาลง โดยเหยียดขาซ้ายไปด้านหลังและยืดหลังให้ตรง ไม่ก้มตัวหรืองอเข่าซ้าย ทำค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำซ้ำโดยสลับขา

ผู้มีอาการปวดบริเวณน่อง

ผู้มีอาการปวดน่องสามารถยืดกล้ามเนื้อโดยใช้มือทั้งสองข้างจับที่พนักพิงของเก้าอี้ หรือยันกำแพงไว้ ก้าวเท้าข้างหนึ่งไปด้านหลัง โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยให้ขาอีกข้างเหยียดตรง จากนั้นค่อย ๆ ย่อตัวและงอเข่าที่อยู่ด้านหน้า โดยวางเท้าทั้งสองข้างราบกับพื้น ทำค้างไว้ประมาณ 30–60 วินาที ทำซ้ำโดยสลับเป็นขาอีกข้างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากทำท่ายืดกล้ามเนื้อแล้วมีอาการปวดตึงที่ขามาก ไม่ควรฝืนทำต่อ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้นได้

หากทำตามวิธีแก้ปวดขาเหล่านี้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง เช่น ขาบวมแดงมาก ขาอ่อนแรง ผิดรูป และไม่สามารถเดินได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงและกระดูกหัก หรือมีอาการปวดขาเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ควรได้รับรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น 

  • การให้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น กลุ่มยาโอปิออยด์ชนิดรับประทานและชนิดฉีดในบริเวณที่มีอาการปวด
  • การให้ยาอื่น เช่น ยากันชัก และยาต้านเศร้า หากอาการปวดขาเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท และยาปฏิชีวนะ กรณีที่มีอาการปวดขาจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) โรคกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) และโรคฉี่หนู
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดบวมที่ขา และช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
  • การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อพยุงบริเวณขาและช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น การใส่เฝือกไม้เท้า และรถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair)
  • การผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น กระดูกกดทับเส้นประสาท ขาหักรุนแรง  และเอ็นร้อยหวายอักเสบรุนแรงหรือฉีกขาด เป็นต้น

นอกจากวิธีแก้ปวดขาข้างต้น การดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบีอาจช่วยป้องกันการปวดขาจากตะคริวได้ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำด้วยกิจกรรมที่มีแรงกระแทกต่ำ (Low Impact) เช่น เดินและว่ายน้ำ จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ ช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ขาแข็งแรง และลดความเสี่ยงของการปวดขาได้