แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าร้อนอาจเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนชื่นชอบหรือรอคอย ไม่ว่าจะเป็นคนที่วางแผนท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว อย่างวันสงกรานต์ หรือเด็กนักเรียนที่จะได้หยุดพักผ่อนจากการเรียนในช่วงปิดเทอม
นอกจากวันหยุดยาวแล้ว หน้าร้อนยังอาจมาพร้อมกับโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างที่อาจทำให้ช่วงเวลาพักผ่อนหมดสนุกไปได้ บทความนี้ได้รวบรวมโรคที่มากับหน้าร้อน และวิธีดูแลตัวเองมาฝากกัน
4 โรคที่มากับหน้าร้อน
โรคในช่วงหน้าร้อนที่พบได้บ่อย เช่น
1. อาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ซึ่งอาการและระยะเวลาที่แสดงอาการจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหาร ไปจนถึงหลายวันหรืออาจนานหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหาร
ภาวะอาหารเป็นพิษจะพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตได้ไวขึ้นในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง โดยอาการจากอาหารเป็นพิษที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว อุจจาระปนเลือด ปวดท้อง มีไข้ เป็นต้น
การป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากภาวะอาหารเป็นพิษได้ดีที่สุดจึงเป็นการคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ล้างอุปกรณ์ทำอาหารให้สะอาด ปรุงอาหารให้สุกดีก่อนรับประทาน เก็บเนื้อสัตว์สดไว้ในตู้เย็นและแยกจากอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วเสมอ และทิ้งอาหารที่เน่าเสียแล้วเสมอ
ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะอาหารเป็นพิษมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน แต่คนที่มีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ทันที เช่น อาเจียนบ่อย อาเจียนปนเลือด อุจจาระปนเลือด ท้องเสียติดต่อกันเกิน 3 วัน ปวดท้องรุนแรง อ่อนเพลีย ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส กระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย เวียนศีรษะ โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
2. ไข้หวัด
บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า โรคไข้หวัดเป็นโรคที่มักพบได้ในช่วงหน้าหนาว แต่ความเป็นจริงแล้ว โรคไข้หวัดก็ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่มากับหน้าร้อนเช่นกัน
โรคไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณจมูกและลำคอ ซึ่งชนิดของเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยคือ เชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดจะเริ่มมีอาการประมาณ 1–3 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย มีน้ำมูกอ่อน ๆ เป็นต้น
การได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมักมาจากการได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นจากการไอ จาม พูดคุย หรือสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่แล้วไม่ได้ล้างมือก่อนที่จะสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก ดังนั้น การป้องกันตัวเองจากโรคไข้หวัด จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ข้างนอกที่พักอาศัย
โรคไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักดีขึ้นได้เองหลังจากที่ได้พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือเริ่มพบสัญญาณผิดปกติบางอย่าง เช่น ไข้ขึ้นสูงติดต่อกันนานเกิน 3 วัน กลับมาเป็นไข้ซ้ำหลังจากอาการดีขึ้น หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม เจ็บคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หรือรู้สึกปวดบริเวณแก้ม ระหว่างตา และหน้าผาก เป็นต้น
3. ผดร้อน
ผดร้อนมีสาเหตุมาต่อมเหงื่อเกิดการอุดตันอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยตุ่มแดงหรือแผลพุพองขนาดเล็กรวมเป็นกระจุก มักพบได้บ่อยบริเวณคอ หน้าอก ใต้ราวนม ขาหนีบ และรอยพับข้อศอก
การดูแลตัวเองเมื่อมีผดร้อนคือ ให้อยู่ในพื้นที่ที่อากาศเย็นและแห้งเพื่อลดการหลั่งเหงื่อ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นหรือหนาจนเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น และอาจใช้แป้งทาตัวร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการผื่น แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาขี้ผึ้งหรือครีมใด ๆ บริเวณที่เป็นผดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน อาการรุนแรงขึ้น หรือพบอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ปวด บวม บริเวณรอบ ๆ รอยผื่นแดงหรือร้อนผิดปกติ มีหนองไหลออกมา มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ลำคอ หรือขาหนีบบวม เป็นต้น
4. ลมแดด
ลมแดดเป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน หรือการออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ผิวหนังแดงและร้อนจัด อาจพบว่าผิวแห้งหรือชื้นร่วมด้วย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว สับสน กระสับกระส่าย พูดไม่ชัด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เป็นต้น
ลมแดดเป็นภาวะรุนแรงที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากพบผู้ที่มีอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะลมแดด ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
ในระหว่างนำผู้ป่วยไปส่งแพทย์ ให้ปฐมพยาบาลโดยการพาผู้ป่วยไปที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทได้ดี จากนั้นให้คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก และใช้ผ้าชุบน้ำประคบตามร่างกายของผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
นอกจากโรคหรือภาวะผิดปกติในข้างต้น ยังมีโรคที่มากับหน้าร้อนอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคบิด อุจจาระร่วง โรคพิษสุนัขบ้า กลาก เกลื้อน เพลียแดด ไปจนถึงโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
เพื่อป้องกันโรคที่มากับหน้าร้อน การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยให้เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่สะอาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยให้เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำตาลเป็นส่วนผสม หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือหนักเกินไป หลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักอาศัยในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วง 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเย็น และทาครีมกันแดด