ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงหนึ่งที่เกิดโรคผิวหนังหรือปัญหาผิวต่าง ๆ ได้บ่อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมักเกิดภาวะต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ร่างกายขับเหงื่อออกมามากขึ้น ร่างกายเกิดความอับชื้น หรือผิวหนังขับความมันออกมามากขึ้น
หน้าร้อนถือเป็นช่วงหนึ่งของปีที่พบการเกิดโรคผิวหนังได้บ่อย การเรียนรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และการป้องกันตัวเองอยู่เสมอ อาจช่วยให้เรามีสุขภาพผิวที่ดีและห่างไกลจากโรคผิวหนัง
ตัวอย่างโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน ได้แก่
1. สิว
สิวเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันภายในรุมขนจากความมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว แบคทีเรีย และเส้นขน โดยช่วงหน้าร้อนจะเป็นช่วงที่มักพบการเกิดสิวได้บ่อย เนื่องจากในช่วงที่อากาศร้อน ผิวหนังจะผลิตน้ำมัน และขับเหงื่อออกมามากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้รูขุมขนเกิดการอุดตันจนเกิดเป็นสิว โดยเฉพาะคนที่ใช้ครีมกันแดดและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีเนื้อครีมหนักหรือข้น
2. โรคเชื้อราที่ผิวหนัง
โรคเชื้อราที่ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอีกกลุ่มที่พบในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นในอากาศเพิ่มสูงขึ้น โดยโรคเชื้อราที่ผิวหนังที่พบได้บ่อย คือ โรคกลากและโรคเกลื้อน
โรคกลาก
โรคกลากเกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่เจริญเติบโตมากผิดปกติจากการที่มีความร้อนและความชื้นเป็นตัวกระตุ้น สามารถเกิดได้หลายตำแหน่งตามร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ขาหนีบ เท้า ไปจนถึงเล็บมือและเล็บเท้า และลักษณะอาการจะต่างกันไปตามบริเวณที่พบอาการ เช่น
- ตามร่างกายหรือผิวหนังทั่วไป ลักษณะของผื่นจะมีรูปร่างคล้ายวงแหวน มีอาการบวมและเป็นสะเก็ดบริเวณวงของกลาก โดยที่ผิวหนังตรงกลางจะเป็นสีปกติและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
- หนังศีรษะ ในช่วงแรกจะพบรอยตุ่มแผลเล็ก ๆ คล้ายสิว จากนั้นจะเริ่มตกสะเก็ดและลอกออกเป็นแผ่น และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผมร่วงบริเวณที่เกิดแผล ปวดบริเวณหนังศีรษะ หรือหนังศีรษะบวมแดง
- ขาหนีบ จะพบรอยผื่นที่มีลักษณะสีออกแดง น้ำตาล หรือเทา ร่วมกับอาการคัน โดยอาการคันจะยิ่งรุนแรงขึ้นหลังจากออกกำลังกาย
- เท้า ในช่วงแรกจะพบรอยผื่นบริเวณซอกนิ้วเท้า ลักษณะเป็นสะเก็ดแห้ง จากนั้นรอยผื่นจะเริ่มแพร่กระจายไปยังบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า ส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น คัน แสบร้อน มีแผลพุพอง ผิวหนังลอก และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- เล็บมือและเล็บเท้า ผู้ป่วยจะพบว่าเล็บหนาขึ้น เล็บมีสีออกเหลืองหรือขาวผิดปกติ และเล็บเปราะหักง่าย โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียงเล็บเดียวหรือหลายเล็บก็ได้
โรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนเป็นโรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) เจริญเติบโตมากเกินไป ผู้ป่วยจะพบรอยด่างตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหลัง หน้าอก ลำคอ และแขนช่วงบน โดยรอยด่างจะมีสีอ่อนหรือเข้มกว่าผิวหนังบริเวณรอบข้าง และอาการจะยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อโดนแสงแดด
3. ผดร้อน
ผดร้อนเกิดจากต่อมเหงื่อเกิดการอุดตันอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดเป็นรอยผื่นที่มีลักษณะเป็นรอยตุ่มแดงคล้ายสิวหรือแผลพุพองขนาดเล็กเกาะรวมกันเป็นกระจุก ซึ่งบริเวณคอ หน้าอก ใต้ราวนม รอยพับข้อศอก และขาหนีบจะเป็นบริเวณที่พบรอยผื่นได้บ่อย
4. ผิวไหม้แดด
ผิวไหม้แดดเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับรังสียูวี (UV) เป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการแดง ร้อน ปวด บวม และมีแผลพุพอง ในกรณีรุนแรงอาจพบอาการปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ และอ่อนเพลียร่วมด้วย
รังสียูวีเป็นรังสีที่พบได้ทั้งในแหล่งธรรมชาติคือแสงแดด และแหล่งรังสียูวีเทียม อย่างเตียงอบผิวแทน โดยอาการผิวไหม้แดดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวหนังแม้แต่ผิวหนังใต้ร่มผ้า เนื่องจากรังสียูวีสามารถทะลุเสื้อผ้าที่มีลักษณะโปร่งและบางได้
นอกจากโรคผิวหนังที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว การได้รับแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาริ้วรอย จุดด่างดำ ฝ้า รูขุมขนอักเสบ อาการแพ้แดด ไปจนถึงโรคมะเร็งผิวหนัง
ป้องกันตัวเองจากโรคผิวหนังในช่วงหน้าร้อนอย่างไรดี
การป้องกันตัวเองจากแสงแดดเป็นสิ่งสำคัญ ในเบื้องต้นสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด โดยเฉพาะในช่วง 10 โมงเช้า–4 โมงเย็น
- ทาครีมกันแดดเสมอ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และควรทาก่อนออกแดดประมาณ 15–30 นาที
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่ฉลากระบุว่าไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Non–comedogenic) และไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดรูขุมขนอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจนำไปสู่ปัญหาสิวได้
- เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
- สวมใส่อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันร่างกายจากแสงแดดเสมอขณะออกนอกที่พักอาศัยในช่วงที่มีแดดแรง เช่น สวมหมวก สวมแว่นกันแดด หรืออาจจะเลือกสวมใส่เสื้อแขนยาว
- รักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ อาบน้ำเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้ผิวหนังเปียกชื้นเป็นเวลานาน และล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากเล่นกับสัตว์ เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อราที่อาจปนเปื้อนมาได้
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าซ้ำ และควรตากเสื้อผ้าให้แห้งก่อนนำมาใส่อีกครั้งเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน หมวก หวี และอุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ
ทั้งนี้ นอกจากโรคผิวหนังแล้ว หน้าร้อนยังเป็นช่วงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ได้อีกมากมาย การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำตาล แบ่งเวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอ