ยารักษาริดสีดวงเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวาร เช่น การอักเสบ ปวด บวม คันบริเวณทวารหนัก ขับถ่ายลำบาก และมีเลือดออกทางทวารหนัก ยารักษาริดสีดวงที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยามีหลายประเภท และมีส่วนประกอบหลักที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรและใช้ยาตามคำแนะนำ เพื่อให้การรักษาริดสีดวงมีประสิทธิภาพ
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ซึ่งอาจเกิดภายในทวารหนัก หรือมีลักษณะเป็นติ่งนูนยื่นออกมาภายนอกทวารหนัก การเลือกใช้ยารักษาริดสีดวงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยรักษาอาการจากโรคริดสีดวงทวาร ป้องกันปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ดี และป้องกันการเกิดริดสีดวงทวารซ้ำในภายหลัง
ตัวอย่างยารักษาริดสีดวงที่แนะนำ
ยารักษาริดสีดวงที่หาซื้อได้ตามร้านขายยามีทั้งชนิดยารับประทาน ยาทา และยาเหน็บ เช่น
1. ไดออสมิน 500 (Diosmin 500) 10 เม็ด/แผง
ไดออสมิน 500 เป็นยาเม็ดที่ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนักได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมถึงผู้มีอาการรุนแรง ใน 1 เม็ดประกอบด้วยสารสกัดกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผักผลไม้ตามธรรมชาติ ปริมาณ 500 มิลลิกรัม ได้แก่ ไดออสมิน 450 มิลลิกรัม และเฮสเพอริดีน 50 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดที่โป่งพอง และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
ผู้ที่มีอาการริดสีดวงเฉียบพลัน ให้รับประทานยาไดออสมินพร้อมอาหารครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 วัน จากนั้นลดขนาดรับประทานลงเหลือครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน 3 วัน ส่วนผู้มีอาการเรื้อรัง ให้รับประทานยานี้ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร
2. เซริพร็อค เอ็น ครีม (Scheriproct N Cream) 10 กรัม
เซริพร็อค เอ็น เป็นยารักษาริดสีดวงทวารชนิดครีม ใช้ทาบริเวณที่มีอาการริดสีดวง โดยมีตัวยาสำคัญคือ ฟลูโอคอร์โตโลน พิวาเลท (Fluocortolone Pivalate) 1 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ช่วยลดการอักเสบและคันผิวหนัง และลิโดเคน (Lidocaine) 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ยานี้จึงช่วยลดอาการเจ็บปวด บวม อักเสบ และคันจากริดสีดวงทวารได้
ควรใช้ยานี้หลังถ่ายอุจจาระแล้ว และก่อนทายาควรทำความสะอาดบริเวณทวารหนักก่อน จากนั้นบีบครีมปริมาณเท่าเมล็ดถั่วลงบนนิ้ว แล้วป้ายยาบริเวณรอบ ๆ และในหูรูดทวารหนัก แนะนำให้ทายาทายาเซริพร็อค เอ็น ครีมวันละ 2–3 ครั้งในระยะแรกที่เริ่มใช้ยา จากนั้นสามารถลดความถี่ลงเป็นวันละ 1 ครั้งเมื่ออาการดีขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกิน 2 สัปดาห์โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และห้ามใช้ยานี้ในผู้มีโรคติดเชื้อทางผิวหนังบริเวณทวารหนัก และอาการทางผิวหนังจากอีสุกอีใสและซิฟิลิส
3. ดูปร๊อค ชนิดเหน็บ (Doproct Suppository) 10 แท่ง/กล่อง
ดูปร๊อคเป็นยารักษาริดสีดวงชนิดเหน็บทวารที่ประกอบด้วยยาไฮโดรคอร์ติโซน อะซีเตต (Hydrocortisone Acetate) 7.5 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ช่วยลดการอักเสบ บวม แดง และคันจากริดสีดวงทวารหนักทั้งภายนอกและภายใน ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) 250 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อ และเบนโซเคน (Benzocaine) 40 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยบรรเทาปวด
วิธีใช้ยาดูปร๊อคชนิดเหน็บ ให้สอดยา 1 แท่งเข้าทางทวารหนัก วันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น โดยแนะนำให้ใช้ยาเหน็บหลังการขับถ่าย
4. ซิดูออล (Siduol) 10 แคปซูล/แผง
ยารักษาริดสีดวงซิดูออลเป็นยาเม็ดชนิดแคปซูล ใน 1 แคปซูลมีตัวยารูติน (Rutin) 100 มิลลิกรัม โทโคฟีรอลส์ แคลเซียม ซัคซิเนต (Tocopherol Calcium Succinate) 52 มิลลิกรัม ไลโซโซมคลอไรด์ (Lysozyme Chloride) 10 มิลลิกรัม วิตามินเค 1 (vitamin K 1) 2 มิลลิกรัม และพลูรอนิค เอฟ-68 (Pluronic F-68) 20 มิลลิกรัม
ยานี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ลดการอักเสบ ปวดบวมจากริดสีดวงทวาร โดยใช้ได้กับทั้งริดสีดวงทวารภายในและภายนอก โดยแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร ครั้งละ 1–2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
5. ขาวละออ ยาบรรเทาริดสีดวงทวาร 10 เม็ด
ยารักษาริดสีดวงขาวละออเป็นยาสมุนไพร ใน 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ประกอบด้วยเพชรสังฆาต 180 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยลดอาการเจ็บปวด บวม อักเสบของทวารหนัก และลดความรุนแรงของการมีเลือดออก และสมุนไพรอื่น ๆ เช่น โกฐน้ำเต้า โกฐกรักกรา และอัคคีทวาร ซึ่งช่วยลดอาการริดสีดวงทวาร และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้อาการริดสีดวงทวารรุนแรงขึ้นด้วย
ขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร
การใช้ยารักษาริดสีดวงจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ปวดบวม คัน และอักเสบจากริดสีดวงทวาร ทั้งนี้ การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะผู้มีอาการริดสีดวงเรื้อรัง มีอาการซ้ำบ่อย หรืออาการรุนแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็น รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ใช้ยาอื่นอยู่ เด็ก และผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยารักษาริดสีดวง
การใช้ยารักษาริดสีดวงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนหัว และมีผื่นได้
ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น ดูแลความสะอาดบริเวณที่เป็นริดสีดวงอย่างสม่ำเสมอ และนั่งแช่น้ำอุ่น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์ มีเลือดออกขณะขับถ่าย หรือมีอาการเวียนหัว คล้ายจะเป็นลม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 20 กันยายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD