อาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมองเป็นหนึ่งในวิธีดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่หลาย ๆ คนมองหา เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันของหลายคนนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสมองได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการเรียนหรือการทำงาน ไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
การดูแลสุขภาพสมองให้ทำงานได้ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย เนื่องจากสมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนความคิด ความจำ การแสดงอารมณ์ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย อีกทั้งเมื่อมีอายุมากขึ้น สมองยังเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
โดยในบทความนี้จะแนะนำหนึ่งในวิธีการดูแลสมองอย่างง่าย ๆ อย่างการเลือกอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมอง ที่คนทั่วไปสามารถทำได้ เผื่อว่าใครที่กำลังมองหาวิธีดูแลสุขภาพสมองอยู่จะได้ศึกษาและหามาลองดื่มกัน
5 อาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมอง ตัวช่วยดูแลสมองที่หาได้ใกล้ตัว
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมอง อาจลองศึกษาข้อมูลและเลือกจากตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. ซุปไก่สกัด
ในปัจจุบัน ซุปไก่สกัดถือเป็นเครื่องดื่มที่หาดื่มได้ค่อนข้างง่าย โดยสารอาหารหลัก ๆ ที่มักพบได้ในเครื่องดื่มชนิดนี้ก็จะประกอบไปด้วยอะมิโนไดเปปไทด์ (Amino dipeptide) อย่างแอนเซอรีน (Anserine) และคาร์โนซีน (Carnosine) ซึ่งช่วยสร้างและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอาจมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกายตามอายุได้อีกด้วย
นอกจากนี้ แอนเซอรีนและคาร์โนซีนยังเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย โดยงานวิจัยบางชิ้นพบว่า การที่ร่างกายได้รับอะมิโน 2 ชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของกระบวนการคิดและการรับรู้ของสมองได้
โดยในด้านประโยชน์ต่อสมอง มีงานวิจัยที่พบว่าการดื่มซุปไก่สกัดเป็นประจำอาจมีส่วนช่วยให้เลือดในร่างกายไหลเวียนนำออกซิเจน (Oxygen) ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบความจำและการควบคุมสมาธิ ซึ่งเมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ การทำงานของสมองและระบบประสาทในด้านความจำและการคุมสมาธิก็อาจดีขึ้นได้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มซุปไก่สกัดกับการทำงานของสมองโดยการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ดื่มซุปไก่สกัดจริงกับซุปไก่สกัดหลอก ซึ่งพบว่าการดื่มซุปไก่สกัดอาจมีส่วนช่วยให้กระบวนการคิดหรือความจำระยะสั้นของสมองทำงานได้ดีขึ้น
อีกทั้งยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของซุปไก่สกัดในด้านการบรรเทาความเหนื่อยล้าของสมอง โดยการแบ่งผู้เข้าทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งจะได้รับเครื่องดื่มซุปไก่สกัดจริง ส่วนกลุ่มที่สองจะได้รับเป็นซุปไก่สกัดหลอก ซึ่งผลลัพธ์พบว่า สมองของกลุ่มผู้ที่ดื่มซุปไก่สกัดจริงมีการฟื้นตัวจากอาการเหนื่อยล้าได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับซุปไก่สกัดหลอก
โดยปกติแล้ว ซุปไก่สกัดเป็นเครื่องดื่มที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย คนทั่วไปสามารถดื่มได้ แต่เนื่องจากยังไม่มีผลวิจัยเกี่ยวกับจำนวนการบริโภคต่อวันอย่างแน่ชัด จึงควรดื่มในปริมาณที่ฉลากผลิตภัณฑ์แนะนำอย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ ก็อาจจะปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
2. ขิง
ขิงเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด โดยในด้านประโยชน์ต่อสมอง มีงานวิจัยที่พบว่า ขิงอาจมีส่วนช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative Diseases) ได้ โดยตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ก็เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)
3. ธัญพืชเต็มเมล็ด
ธัญพืชเต็มเมล็ด หรือธัญพืชไม่ขัดสี (Whole Grains) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด หรือควินัว เป็นกลุ่มอาหารที่ให้สารอาหารดี ๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของประสาทและสมอง โดยวิตามินบีแต่ละชนิดก็จะให้ประโยชน์ต่อสมองที่แตกต่างกันไป เช่น
- วิตามินบี 3 เป็นวิตามินที่สำคัญต่อการทำงานของสมองในด้านความจำ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า วิตามินชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงอาจช่วยให้กระบวนการทำงานของสมองในด้านความคิด ความจำ และการรับรู้ดีขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นได้
- วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 และวิตามินบี 12 อาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) หรือโปรตีนชนิดหนึ่งที่หากมีการสะสมในร่างกายมากเกินไป อาจส่งผลให้สมองและเซลล์ประสาทมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอจนเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้
4. น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่อาจมีส่วนช่วยบำรุงสมองซึ่งทุกคนสามารถลองหามารับประทานได้ เนื่องจากในน้ำมันมะพร้าวจะมีสารอาหารหลัก ๆ อย่างไขมันอิ่มตัวที่เป็นไตรกลีเซอไรด์สายยาวปานกลาง (Medium Chain Triglyceride: MCT) และสารที่ช่วยต้านการอักเสบอยู่มาก ซึ่งอาจมีส่วนช่วยบำรุงสมองในด้านกระบวนการคิด ความจำ การรับรู้ และการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสมองของน้ำมันมะพร้าวในปัจจุบันยังมีค่อนข้างน้อย และยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ที่แน่ชัด
5. โสม
โสมเป็นพืชที่มักพบสารจินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) และสารจินโทนิน (Gintonin) อยู่มาก โดยสารเหล่านี้ถือเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงอวัยวะสำคัญอย่างสมองด้วยเช่นกัน
โดยงานวิจัยบางชิ้นพบว่าการบริโภคโสมเป็นประจำติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายปีอาจมีส่วนช่วยให้กระบวนการคิด ความจำ หรือการตัดสินใจของสมองในช่วงที่เริ่มมีอายุมากขึ้นทำงานดีขึ้นได้
ทั้งนี้ แม้อาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมองจะมีประโยชน์ แต่การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ และสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
นอกจากการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงสมองแล้ว การดูแลตัวเองในด้านอื่น ๆ ก็สำคัญต่อสุขภาพสมองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ช่วยให้สมองได้ใช้งานอยู่เป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด: 6 กันยายน 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย: กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD
เอกสารอ้างอิง
- Sun, et al. (2023). The Effects of Medium Chain Triglyceride for Alzheimer's Disease Related Cognitive Impairment: A Systematic Review and Meta-Analysis. Journal of Alzheimer's disease : JAD, 94 (2), pp. 441–456.
- Arcusa, et al. (2022). Potential Role of Ginger (Zingiber officinale Roscoe) in the Prevention of Neurodegenerative Diseases. Frontiers in nutrition, 9, pp. 809621.
- Wang, Y., Pan, Y., & Li, H. (2020). What is brain health and why is it important?. BMJ (Clinical research ed.), 371, m3683.
- Lho, et al. (2018). Effects of lifetime cumulative ginseng intake on cognitive function in late life. Alzheimer's research & therapy, 10 (1), pp. 50.
- Suttiwan, P., Yuktanandana, P., & Ngamake, S. (2018). Effectiveness of Essence of Chicken on Cognitive Function Improvement: A Randomized Controlled Clinical Trial. Nutrients, 10 (7), pp. 845.
- Rokicki, et al. (2015). Daily Carnosine and Anserine Supplementation Alters Verbal Episodic Memory and Resting State Network Connectivity in Healthy Elderly Adults. Frontiers in aging neuroscience, 7, pp. 219.
- Konagai, et al. (2013). Effects of essence of chicken on cognitive brain function: a near-infrared spectroscopy study. Bioscience, biotechnology, and biochemistry, 77 (1), pp. 178–181.
- Yamano, et al. (2013). Effects of chicken essence on recovery from mental fatigue in healthy males. Medical science monitor : international medical journal of experimental and clinical research, 19, pp. 540–547.
- Zain, A. M., & Syedsahiljamalulail, S. (2003). Effect of taking chicken essence on stress and cognition of human volunteers. Malaysian journal of nutrition, 9 (1), pp. 19–29.
- Solan, M. Harvard Health Publishing (2022). Harvard Medical School. The worst habits for your brain.
- Harvard T.H. Chan School of Public Health. Folate (Folic Acid) – Vitamin B9.
- Harvard T.H. Chan School of Public Health. Niacin – Vitamin B3.
- Harvard T.H. Chan School of Public Health. Vitamin B6.
- Harvard T.H. Chan School of Public Health. Vitamin B12.
- Kidd, K. Mayo Clinic Health System (2022). 6 tips to keep your brain healthy.
- Leech, J. Healthline (2023). 11 Proven Health Benefits of Ginger.
- Semeco, A. Healthline (2022). 7 Proven Health Benefits of Ginseng.
- Shoemaker, S. Healthline (2020). 15 Brain-Boosting Juices and Beverages.
- Jennings, K.A. Healthline (2019). 9 Health Benefits of Eating Whole Grains.
- WebMD (2022). Brain-Boosting Beverages.