การฝึกสมองเป็นวิธีพัฒนากระบวนการคิดและทักษะการเรียนรู้ที่ช่วยให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอ แม้ว่าสมองจะสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมองก็จะเสื่อมถอยลง ดังนั้นการฝึกสมองจึงเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการคิดหรือตัดสินใจในแต่ละวันให้มีประสิทธิภาพ
สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมากช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของประสาทสัมผัส การผลิตฮอร์โมน การหายใจ และความดันโลหิต สมองจึงมีผลอย่างมากต่อการแสดงออกทางความคิด อารมณ์ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการตัดสินใจ การฝึกสมองให้กระฉับกระเฉงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและป้องกันการเสื่อมถอยของสมองก่อนวัยได้เป็นอย่างดี
เทคนิคฝึกสมองให้ฉับไว
การฝึกสมองให้ตื่นตัวและฉับไวอยู่เสมอ จะช่วยให้เราสามารถคิดคำนวณ ตัดสินใจ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจช่วยฝึกสมองของคุณให้มีพลังและฉับไวขึ้นได้
เล่นต่อจิ๊กซอว์
การต่อจิ๊กซอว์ทำให้ผู้เล่นได้ฝึกทั้งทักษะการแก้ปัญหา ความคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง ความจำ และความอดทนได้ดี โดยใช้เพียงจิ๊กซอว์ที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเป็นเกมที่สามารถเล่นคนเดียวหรือชวนเพื่อนมาร่วมเล่นด้วยได้ จึงเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกทั้งสมองและทักษะความคิดของเด็กและผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี
เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ
การเรียนรู้ภาษาใหม่ทำให้ได้เพิ่มพูนความรู้ ฝึกความจำ ฝึกทักษะความคิดด้านมิติสัมพันธ์ และยังได้ฝึกการอ่าน การฟัง และการสื่อสารไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้พบว่าผู้ที่สามารถใช้ภาษา 2 ภาษาขึ้นไปได้อย่างชำนาญ จะมีทักษะการคิดหรือการทำงานได้หลายสิ่งพร้อม ๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันอาการหลงลืมตามวัยที่อาจเป็นอาการของโรคสมองเสื่อมได้
ออกกำลังและขยับร่างกาย
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยพัฒนาสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย การออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี และช่วยเพิ่มขนาดสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่รับผิดชอบเรื่องความจำในระยะยาวโดยตรง
หนึ่งในการออกกำลังกายที่ช่วยฝึกสมองได้ดี คือการเต้นประกอบเพลงจังหวะต่าง ๆ เช่น แจ๊ซ หรือซุมบ้า (Zumba) เนื่องจากจะช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ฝึกทักษะะการจับจังหวะเพลงและท่าทาง และอาจช่วยให้คุณได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
ฟังเพลงหรือเล่นดนตรี
เสียงเพลงไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันความจำเสื่อมถอย แต่พบข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเพลง อย่างการใช้ดนตรีบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและอารมณ์ ลดความเครียดและวิตกกังวล จึงมีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่เข้าเรียนดนตรีและได้ฝึกเล่นดนตรีเป็นประจำ จะมีความสามารถในการอ่านและการพูดที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ที่อยากเริ่มเล่นดนตรีก็สามารถเรียนรู้ได้ โดยอาจเลือกเรียนเปียโน กีตาร์ หรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อให้สมองได้ฝึกทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติม
เดินทางด้วยเส้นทางใหม่ ๆ
การเดินทางท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และยังทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและฝึกทักษะการสื่อสารเมื่อได้ไปเยือนสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้การฝึกสมองอาจไม่จำเป็นต้องไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่คุณอาจฝึกสมองด้วยวิธีที่ง่ายกว่า อย่างการเดินทางไปทำงานหรือกลับบ้านด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น เลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือเลือกขี่จักรยานในกรณีที่ระยะทางไม่ไกลนักแทนการขับรถส่วนตัว ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้สมองได้ฝึกการคิดและการตัดสินใจจากเส้นทางที่แปลกใหม่ และทำให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอ
การฝึกสมองด้วยกิจกรรมที่มีประโยชน์เป็นประจำ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความจำและกระบวนการคิดในระยะยาว นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และมีโอเมก้า 3 สูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยบำรุงสมองมีสุขภาพดีและไม่เสื่อมก่อนวัย