ยาแก้แพ้เด็กเป็นยาที่ใช้รักษาอาการแพ้จากโรคภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันตา น้ำตาไหล และผื่นลมพิษ ยาแก้แพ้เด็กที่วางขายทั่วไปในปัจจุบันมีตัวยาสำคัญที่แตกต่างกันและมีหลายรูปแบบ ซึ่งมักอยู่ในรูปของยาน้ำที่เด็กรับประทานได้ง่าย ผู้ปกครองควรเลือกใช้ยาแก้แพ้เด็กให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการแพ้ของลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมาเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เช่น ฝุ่นละออง เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ อาหาร และสารเคมี ซึ่งยาแก้แพ้เด็กมักเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และบางตัวอาจผสมยาที่ช่วยแก้คัดจมูกด้วย
แนะนำ 5 ยาแก้แพ้เด็กที่พ่อแม่ควรรู้จัก
ตัวอย่างยาแก้แพ้เด็กชนิดน้ำที่พ่อแม่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยา เช่น
1. เซทริกซ์ ไซรัป (Zetrix Syrup) ขนาด 60 มิลลิลิตร
เซทริกซ์ ไซรัปเป็นยาแก้แพ้เด็กชนิดน้ำ ช่วยบรรเทาอาการจากภูมิแพ้อากาศที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีหรือตามฤดูกาล บรรเทาอาการเยื่อบุจมูกอักเสบที่มีอาการคัดจมูก เยื่อบุตาอักเสบที่มีอาการแพ้ รวมถึงอาการคันและลมพิษที่เกิดจากอาการแพ้และแมลงสัตว์กัดต่อย โดยมีตัวยาสำคัญคือเซทิริซีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Cetirizine Dihydrochloride) 1 มิลลิกรัม ต่อยา 1 มิลลิลิตร
ยาเซทริกซ์ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเป็นยาที่มักไม่ทำให้ง่วงซึม สำหรับเด็กอายุ 2–6 ปี รับประทานครั้งละ ½ ช้อนชา วันละ 1 ครั้ง และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1–2 ช้อนชา วันละ 1 ครั้ง โดยไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
2. ลอราน็อกซ์ ไซรัป (Loranox Syrup) ขนาด 60 มิลลิลิตร
ยาแก้แพ้เด็กลอราน็อกซ์ ไซรัปเป็นยาน้ำเชื่อมที่มีตัวยาสำคัญคือ ลอราทาดีน (Loratine) 5 มิลลิกรัม ต่อยา 5 มิลลิลิตร ช่วยบรรเทาอาการจากไข้ละอองฟาง และอาการแพ้อื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันคอ ตาแดง คันตา และน้ำตาไหล และยังช่วยบรรเทาอาการคันจากผื่นลมพิษได้
ลอราน็อกซ์เป็นยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์ได้เร็วและออกฤทธิ์ยาวนาน โดยไม่ทำให้ง่วงซึม ขนาดและวิธีใช้แบ่งตามช่วงอายุของเด็ก คือเด็กที่อายุ 2–12 ปี รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 1 ครั้ง และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 1 ครั้ง โดยไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
3. แอเรียส ไซรัป (Aerius Syrup) ขนาด 60 มิลลิลิตร
แอเรียส ไซรัป เป็นยาแก้แพ้เด็กชนิดน้ำเชื่อมที่มีตัวยาเดสรอลาทาดีน (Desloratadine) 0.5 มิลลิกรัม ต่อยา 1 มิลลิลิตร ใช้บรรเทาอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา และคันคอจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ รวมทั้งลดอาการจากลมพิษ
โดยให้เด็กรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารหรือขณะท้องว่าง ซึ่งเด็กแต่ละช่วงอายุให้รับประทานตามขนาดยา ดังนี้ เด็กอายุ 6–11 เดือน รับประทานยาครั้งละ 2 มิลลิลิตร เด็กอายุ 1–5 ปี เดือน รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิลิตร เด็กอายุ 6–11 ปี รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิลิตร และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิลิตร โดยไม่ควรใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
4. เอเชียแท็ป ชนิดหยดสำหรับทารก (Asiatapp Infant Drops)
ยาแก้แพ้เด็กเอเชียแท็ป เป็นยาน้ำเชื่อมชนิดหยด ใช้บรรเทาอาการแพ้ เช่น แก้คัดจมูก ลดน้ำมูก เนื่องจากโรคหวัดและโรคภูมิแพ้อากาศ โดยประกอบด้วยตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้คือ บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) 2 มิลลิกรัม และยาที่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกคือ ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) 2.5 มิลลิกรัมต่อยา 1 มิลลิลิตร
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 ปี คือครั้งละ 2–4 มิลลิลิตร วันละ 3–4 ครั้ง หรือตามที่แพทย์สั่งโดยใช้หลอดดูดยาที่ให้ในกล่อง หรือผสมกับน้ำให้เด็กดื่ม หากต้องการให้ยานี้กับเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้เด็กรับประทานยา
5. ซูลิดีน ซีพี พลัส พาราเซตามอล (Sulidine CP Plus Paracetamol)
ซูลิดีน ซีพี พลัส พาราเซตามอล เป็นยาแก้แพ้เด็กชนิดน้ำเชื่อม โดยยา 5 มิลลิลิตรประกอบด้วยตัวยาหลัก 3 ชนิด คือยาแก้แพ้ คือคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) 1 มิลลิกรัม ยาบรรเทาอาการปวดและลดไข้ คือพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม และยาแก้คัดจมูกและช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น คือฟีนิลเอฟรีน 5 มิลลิกรัม จึงเหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการไข้หวัด เช่น จาม คัดจมูก มีน้ำมูก และปวดหัว
ยานี้ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1–2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง โดยไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีรับประทานยานี้ รวมถึงควรระวังการให้ยาอื่นที่มีตัวยาพาราเซตามอลแก่เด็กขณะใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาด
ก่อนให้เด็กรับประทานยาแก้แพ้ ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีโรคประจำตัว และเด็กใช้ยาอื่นอยู่ นอกจากนี้ การรับประทานยาแก้แพ้เด็กอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ง่วงซึม เวียนหัว ปวดหัว ไม่สบายท้อง และปากแห้ง จึงควรใช้ยาตามขนาดและวิธีที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด
การใช้ยาแก้แพ้เด็กเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้ดี แต่วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ที่สำคัญกว่าคือการดูแลเด็กไม่ให้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละอองและสารก่อภูมิแพ้ ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย และอาจใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยกรองสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองในบ้าน
หากใช้ยาแก้แพ้เด็กที่หาซื้อได้เองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้เพิ่มเติม โดยแพทย์อาจแนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนภูมิแพ้ด้วย หากเด็กมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ควรฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ชนิดพกพาให้เด็ก และรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 20 กันยายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD