5 ยาทาแผลในปากที่หาซื้อง่ายและช่วยให้แผลหายเร็ว

ยาทาแผลในปาก เป็นยาชนิดครีมหรือเจลที่ใช้สำหรับทาแผลที่อยู่ในช่องปาก ซึ่งมักทำให้รู้สึกเจ็บ แสบ ระคายเคืองขณะพูดหรือขณะรับประทานอาหาร ทำให้แปรงฟันลำบาก อีกทั้งแผลในปากอาจต้องใช้เวลานานจึงจะหายได้เอง การใช้ยาทาแผลในปากจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยลดความเจ็บปวด ป้องกันการติดเชื้อ และทำให้แผลหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น 

แผลในปาก คือแผลที่เกิดขึ้นบริเวณเหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ริมฝีปากใน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เหล็กจัดฟันข่วน ฟันสบกัน อุบัติเหตุที่ทำให้ปากกระแทกกับสิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นแผลในปาก รวมถึงปัจจัยทางฮอร์โมน และความเครียด ที่ทำให้เกิดเป็นแผลร้อนใน บทความนี้จะแนะนำ 5 ยาทาแผลในปากที่ใช้ได้ผลดี ช่วยให้แผลในปากหายได้เร็วขึ้น 

Mouth Ulcer Ointment

แนะนำยาทาแผลในปากที่ช่วยรักษาให้แผลหายเร็วขึ้น

ยาทาแผลในปาก มักออกฤทธิ์ช่วยลดความเจ็บปวด บรรเทาอาการบวมและอักเสบ และฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันไม่ให้แผลในปากติดเชื้อ ทำให้สามารถบรรเทาอาการ และรักษาแผลในปากให้หายไวขึ้นได้

ตัวอย่างยาทาแผลในปากที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

1. นิด้า ไตรโนโลน ออรัลเพสท์ ปริมาณ 5 กรัม

 

Trinolone

นิด้า ไตรโนโลน ออรัลเพสท์ เป็นยาทาแผลในปากที่ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย มีส่วนประกอบของไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ (Triamcinolone acetonide) 1 มิลลิกรัมต่อยา 1 กรัม มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบและบวมที่บริเวณแผลที่เยื่อบุภายในปากหรือบนลิ้น ที่อาจเกิดจากการถูกความร้อน ฟันขบกัน ถูกสารเคมีที่มีความเป็นกรดกรือด่างสูง เช่น ผลิตภัณฑ์บ้วนปาก เครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีความเป็นกรดสูง 

สำหรับวิธีการใช้ยา ให้บีบยาลงปลายนิ้วประมาณ ¼ ข้อนิ้ว แล้วป้ายลงบนแผลโดยปาดให้บาง ๆ ทั่วแผล โดยควรใช้ยาหลังรับอาหารและแปรงฟันเรียบร้อยแล้ว หรืออาจใช้ก่อนเข้านอน เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีตลอดทั้งคืน โดยควรใช้ประมาณ 1–3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของเภสัชกร

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้นิด้า ไตรโนโลนในการทาแผลที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เริมที่ริมฝีปาก เชื้อเฮอร์แปงไจนา

2. ลอนนาเจล รสเชอร์รี่ ปริมาณ 5 กรัม

 

Lonnagel

ลอนนาเจลเป็นยาทาแผลในปากที่มีไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ (Triamcinolone acetonide) เป็นส่วนประกอบ ลอนนาเจลเป็นยาทาแผลในปากที่มีฤทธิ์ที่ช่วยลดความเจ็บปวดที่บริเวณแผล บรรเทาอาการบวมและอักเสบของแผลร้อนใน แผลจากหินปูน แผลจากการสบฟัน และการอักเสบที่บริเวณลิ้นและเหงือก นอกจากนี้ ยาลอนนาเจลยังแต่งกลิ่นเชอร์รี่ทำให้มีกลิ่นหอม อาจช่วยให้ใช้ทาแผลในปากได้ง่ายขึ้น

วิธีการใช้ ควรบ้วนปากและกลั้วคอก่อนใช้ยา บีบยาปริมาณ ¼ ของ 1 ข้อนิ้ว และป้ายยาลอนนาเจลที่บริเวณแผล และปาดบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณแผล แต่ไม่ควรถูยา นอกจากนี้ ควรใช้ลอนนาเจล 2–3 ครั้งต่อวัน แนะนำให้ใช้หลังอาหารหรือก่อนนอน เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์รักษายาวนานตลอดทั้งคืน 

3. ขาวละออ เจลทาแผลในปาก ปริมาณ 1 กรัม

 

KhaolaorMouthGel

ขาวละออ เป็นยาทาแผลในปากในแบบเจล มีส่วนประกอบของน้ำมันและเกร็ดสะระแหน่ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้ดี อีกทั้งช่วยลดการอักเสบของแผลในปาก ตัวยาบรรจุในรูปแบบซอง พกพาสะดวก และราคาไมแพง

ในการใช้ ให้ล้างมือ และอาจแปรงฟันหรือบ้วนปากจนสะอาด จากนั้นอาจบีบยาลงบนก้านสำลีหรือปลายนิ้วประมาณ 0.5 เซนติเมตร และจึงป้ายยาที่บริเวณแผล โดยปาดบาง ๆ ให้ทั่ว ควรใช้ยาก่อนเข้านอน หรือหากจำเป็น อาจเพิ่มการใช้ยาหลังอาหารอีก 2–3 ครั้งได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้เจลขาวละออนี้ในการรักษาแผลในปากของเด็กเล็ก 

4. คามิสแตด เจล-เอ็น ปริมาณ 10 กรัม

KamistadN

คามิสแตด เจล-เอ็น เป็นยาทาแผลในปากที่มีส่วนประกอบของลิโดเคน (Lidocaine) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้รู้สึกชา จึงช่วยระงับอาการปวดมากจากแผลในปากที่อักเสบรุนแรง รวมถึงอาการปวดจากฟันคุดด้วย อีกทั้งยังมีสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ ที่ช่วยฆ่าเชื้อ ลดอักเสบ และอาการบวมบริเวณเยื่อบุช่องปาก ริมฝีปากใน เหงือก รวมถึงช่วยรักษาตุ่มในปาก และผื่นแดงที่ริมฝีปากได้อีกด้วย

ในการใช้เจลคามิสแตด หลังล้างมือ บ้วนปาก และกลั้วคอจนสะอาดดีแล้ว ให้บีบยาออกมาขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร ทายาและถูเบา ๆ บริเวณที่ปวดหรืออักเสบในปาก วันละ 3 ครั้ง หากใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากการกดทับของฟันปลอม ให้บีบยาและทาบริเวณที่ถูกกดทับ 

5. บอนเจลา ปริมาณ 15 กรัม

Bonjela

บอนเจลาเป็นเจลทาแผลในปากที่มีส่วนประกอบของโคลีนซาลิไซเลต (Choline Salicylate) ที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ อาจลดอาการปวดและบวมได้ อีกทั้งยังมีเซทอลโคเนียมที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อ และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของบอนเจลาคือ เป็นยาทาแผลในปากที่ออกฤทธิ์ไว ช่วยทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น และไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล

สำหรับการใช้บอนลาเจล สามารถใช้ได้กับเด็กที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยเริ่มจากการล้างมือ บ้วนปากและกลั้วคอให้สะอาด จากนั้นใช้นิ้วมือปาดเจลประมาณ 1 เซนติเมตร ป้ายเจลและนวดบริเวณที่มีอาการปวด บวม หรืออักเสบในปาก และสามารถใช้ยาซ้ำได้อีกในทุก ๆ 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้บอนเจลากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 เดือน

ผู้ที่มีแผลในปากควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และอ่านฉลากให้ครบถ้วนก่อนใช้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ และใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณเกินกำหนด นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ รักษาความสะอาดในช่องปาก อาจบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือร้อนจัด เพื่อให้แผลหายได้ไวขึ้น