ยานวดคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬาหรือจากปัญหาสุขภาพทั่วไป ยานวดกล้ามเนื้อมีหลายยี่ห้อ และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น
ยานวดคลายกล้ามเนื้อมักประกอบไปด้วยตัวยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) หรือตัวยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) รวมถึงสารให้ความเย็นอื่น ๆ เช่น เมนทอล การบูร ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการปวด บวม ฟกช้ำ และช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ โดยตัวยามีทั้งรูปแบบเนื้อน้ำ เนื้อครีม หรือเนื้อเจล ซึ่งสามารถทาและซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย
5 ยานวดคลายกล้ามเนื้อที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
ก่อนใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อ ควรทำความเข้าใจรายละเอียดในเอกสารกำกับยาอย่างอย่างถี่ถ้วนก่อนเสมอ เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกวิธี สามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยต่อร่างกาย โดยตัวอย่างยานวดคลายกล้ามเนื้อที่แนะนำ มีดังนี้
1. เคาน์เตอร์เพน (Counterpain) ขนาด 60 กรัม
ยานวดคลายกล้ามเนื้อเคาน์เตอร์เพนประกอบไปด้วยตัวยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) เมนทอล และการบูร ตัวยาจะเป็นเนื้อครีมสูตรร้อน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการปวดหรือตึงกล้ามเนื้อ เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง อาการเคล็ด ขัด ยอกจากการเล่นกีฬา รวมถึงอาการปวดหลังจากถูกแมลงกัดต่อยด้วย
วิธีการใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อเคาน์เตอร์เพนคือ ให้ทายาทั่วบริเวณที่ปวด จากนั้นถูและนวดจนตัวยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง เมื่อถูตัวยาลงบนผิวหนังจะรู้สึกอุ่นขึ้น จึงช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยคลายกล้ามเนื้อได้
การใช้ยาชนิดนี้สามารถใช้ยาได้วันละ 3–4 ครั้ง แต่มีข้อควรระวังในการใช้ยาคือไม่ควรใช้กับผิวหนังที่มีแผลเปิด แผลถลอก หรือเนื้อเยื่ออ่อน ไม่ควรใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเป็นยาใช้ภายนอกห้ามรับประทานด้วย
2. เคาน์เตอร์เพน คูล (Counterpain Cool) ขนาด 60 กรัม
ยานวดคลายกล้ามเนื้อเคาน์เตอร์เพน คูล ประกอบไปด้วยตัวยาลีโวเมนทอล (Levomenthol) ตัวยาจะเป็นเนื้อเจลสูตรเย็นที่ออกฤทธิ์ยับยั้งอาการปวด จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการพลิกหรือเคล็ด รวมถึงอาการบวมช้ำจากการกระแทก เช่น อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อเคาน์เตอร์เพน คูล คือให้ทายาบริเวณที่บาดเจ็บวันละ 3–4 ครั้ง ร่วมกับการใช้ผ้าพันกล้ามเนื้อหรือการประคบเย็น โดยควรทำความสะอาดผิวหนังก่อนใช้ยา
ข้อควรระวังในการใช้ยาคือไม่ควรใช้กับผิวหนังที่มีแผลเปิด แผลถลอก หรือเนื้อเยื่ออ่อน ไม่ควรใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเป็นยาใช้ภายนอกห้ามรับประทานด้วย
3. แอมเม็ลทซ์ โยโกะ โยโกะ (Ammeltz Yoko Yoko) ชนิดน้ำ ขนาด 48 มิลลิลิตร
ยานวดคลายกล้ามเนื้อแอมเม็ลทซ์ โยโกะ โยโกะ ประกอบไปด้วยตัวยาเมทิลซาลิไซเลต เมนทอล การบูร และโนนิวาไมด์ (Nonivamide) ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบได้ในพริก เมื่อทาตัวยาลงไปจะรู้สึกอุ่นบนผิวหนัง จึงสามารถช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ และเคล็ด ขัด ยอกจากสาเหตุต่าง ๆ ได้
ยานวดคลายกล้ามเนื้อแอมเม็ลทซ์ โยโกะ โยโกะ เป็นผลิตภัณฑ์สูตรน้ำที่ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย บรรจุอยู่ในขวดรูปทรงพิเศษ โดยตัวขวดจะมีลักษณะคอขวดที่โค้งงอและมีฟองน้ำยางสำเร็จรูป ทำให้สามารถทาตัวยาบริเวณที่มีความโค้ง เช่น ไหล่ สะโพก หรือหลังได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และตัวยาจะไม่เลอะมือของผู้ใช้ด้วย
การใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อแอมเม็ลทซ์ โยโกะ โยโกะ ควรใช้ยาวันละ 2–3 ครั้งทาบริเวณที่ปวด แต่ไม่ควรใช้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา เนื้อเยื่ออ่อน ผิวหนังที่มีแผลเปิด แผลถลอก หรือผื่นจากผิวหนังอักเสบ (Eczema) รวมถึงตัวยานี้เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก ห้ามนำมารับประทาน
4. น้ำมันมวย ชนิดน้ำ ขนาด 60 ซีซี
น้ำมันมวยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับนวดคลายกล้ามเนื้อที่ได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬา โดยประกอบไปด้วยตัวยาเมทิลซาลิไซเลต เมนทอล และน้ำมันยูคาลิปตัส เมื่อทาตัวยาลงไปจะรู้สึกอุ่นบนผิวหนัง ซึ่งสามารถช่วยคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยบรรเทาอาการปวด อาการเคล็ด ขัด ยอก หรืออักเสบ เช่น อาการปวดข้อ และอาการปวดเมื่อยจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อได้
วิธีการใช้น้ำมันมวยคือให้เขย่าขวดให้ตัวยาผสมกันดีก่อนเปิดใช้งาน ทาน้ำมันลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการปวด โดยควรทำความสะอาดผิวหนังก่อน และใช้ยาในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นนวดหรือถูจนกว่าน้ำมันจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทั้งนี้ น้ำมันมวยเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกและห้ามรับประทาน
5. ไดฟีลีน เจล (Difelene Gel) ขนาด 60 กรัม
ยานวดคลายกล้ามเนื้อไดฟีลีน เจล ประกอบไปด้วยตัวยาไดโคลฟีแนค ไดเอทิลแอมโมเมียม (Diclofenac Diethylammonium) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด (NSAIDs) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรงได้ โดยเฉพาะอาการปวดจากโรคข้ออักเสบ
วิธีการใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อไดฟีลีน เจล คือให้ทายาทั่วบริเวณที่ปวดและถูหรือนวดเบา ๆ เพื่อให้ตัวยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง สามารถใช้ยาได้วันละ 3–4 ครั้ง แต่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ลมพิษ โรคตับ โรคไต ผู้มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาชนิดนี้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
สุดท้ายนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้อ่านทุกคนควรใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และหากมีอาการแพ้ยาหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากการใช้ยา เช่น เกิดอาการทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดง ผิวลอก หรือมีอาการคัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม