5 ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดประสิทธิภาพดีที่สาว ๆ ควรรู้

ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดเป็นยาที่ใช้รักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อราในช่องคลอด เช่น ผื่นแดง บวม คัน ตกขาวเป็นก้อนแป้ง แสบขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการที่อาจรบกวนการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น การใช้ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่มีประสิทธิภาพดีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม 

เชื้อราในช่องคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อราในช่องคลอดเจริญเติบโตมากผิดปกติ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การรับประทานยาคุมกำเนิด อาจทำให้ช่องคลอดขาดความสมดุล ติดเชื้อ และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ โดยการใช้ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาอาจเป็นวิธีที่ช่วยรักษาและบรรเทาอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้

Vaginal Yeast Infection Drugs

ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่น่าใช้สำหรับสาว ๆ

ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่สามารถหาซื้อได้ด้วยตนเองส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบยาสอดช่องคลอดและยาเม็ดสำหรับรับประทาน ซึ่งยาแต่ละรูปแบบอาจมีความเหมาะสมแตกต่างกันไป โดยยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่มีประสิทธิภาพดี น่าใช้ และปลอดภัยสำหรับผู้หญิง มีดังนี้

1. แคนดิน็อกซ์ 1 (Candinox 1) บรรจุกล่องละ 1 เม็ด
Candinox

แคนดิน็อกซ์ 1 เป็นยาสอดช่องคลอดที่ประกอบด้วยยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) 500 มิลลิกรัม ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่อาศัยอยู่ภายในช่องคลอด ซึ่งจะช่วยรักษาการติดเชื้อ อาการคัน ตกขาว ช่องคลอดอักเสบ หรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคเชื้อราในช่องคลอดได้ 

นอกจากนี้ แคนดิน็อกซ์ 1 ยังมีส่วนผสมของกรดแล็กติกและน้ำตาลแลคโตส ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของแลคโตบาซิลัสหรือจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของช่องคลอด ดังนั้น การใช้แคนดิน็อกซ์ 1 จึงอาจช่วยปรับสมดุลภายในช่องคลอดให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย

การใช้ยาแคนดิน็อกซ์ 1 สามารถทำได้โดยการสอดเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอดก่อนนอน 1 เม็ด โดยใช้เพียง 1 ครั้ง ผู้ที่ใช้ยาสามารถใช้นิ้วหรือใช้อุปกรณ์ช่วยสอดที่มาพร้อมกับยาแคนดิน็อกซ์ 1 ดันยาเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังสอดยาแล้ว ผู้ที่ใช้ยาควรนอนค้างนิ่ง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ยาหลุดจากช่องคลอด และล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือ 

2. นีโอ เพโนทราน ฟอร์ท (Neo-Penotran Forte) บรรจุแผงละ 7 เม็ด
Neo Penotran forte

ยานีโอ เพโนทราน ฟอร์ทเป็นยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่มีส่วนผสมของยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 750 มิลลิกรัม และยาไมโคนาโซลไนเตรท (Miconazole nitrate) 200 มิลลิกรัม ซึ่งจะช่วยรักษาเชื้อราในช่องคลอด รวมถึงการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด พยาธิในช่องคลอด

โดยยานีโอ เพโนทราน ฟอร์ทเป็นยารักษาเชื้อราในช่องคลอดที่อยู่ในรูปแบบยาสอดช่องคลอด โดยควรใช้ยาวันละ 1 เม็ดสอดเข้าช่องคลอดก่อนนอน ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาขณะมีประจำเดือน และงดดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยาและหลังจากใช้ยาอย่างน้อย 3 วัน เพราะการใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างอาการชักได้

3. ไบโอโซล (Biozole) บรรจุกล่องละ 1 แคปซูล
Biozole 

ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดไบโอโซลมีตัวยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) 150 มิลลิกรัม โดยยาฟลูโคนาโซลจะช่วยกำจัดเชื้อราที่ก่อให้เกิดการอักเสบและรักษาเชื้อราในช่องคลอดทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังให้ดีขึ้น

การใช้ยาไบโอนาโซลเพื่อรักษาเชื้อราในช่องคลอดสามารถทำได้โดยการรับประทานยาไบโอนาโซล 1 แคปซูล 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด 

4. ซาเลน (Zalain) บรรจุกล่องละ 1 เม็ด
Zalain

ซาเลนเป็นยาที่ช่วยกำจัดเชื้อราต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด เป็นยาชนิดสอดช่องคลอดที่มีส่วนผสมของยาเซอร์ตาโคนาโซล (Sertaconazole) 300 มิลลิกรัม นอกจากนั้น ยาซาเลนยังอาจช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราในช่องคลอดได้ด้วย เช่น อวัยวะเพศบวมแดง คันอวัยวะเพศ ตกขาว

การใช้ยาซาเลนเพื่อรักษาอาการเชื้อราในช่องคลอดทำได้ไม่ยาก เพียงสอดยาเข้าช่องคลอดก่อนนอนจำนวน 1 เม็ด โดยใช้เพียง 1 ครั้ง หากใช้ยาแล้วยังคงมีอาการอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรและรอให้ครบ 7 วันก่อนเริ่มใช้ยานี้อีกครั้ง

5. ไกเนคอน (Gynecon) บรรจุแผงละ 10 เม็ด
Gynecon

ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดไกเนคอนเป็นยาสอดช่องคลอดที่มีตัวยาไนสแตติน (Nystatin) 100,000 หน่วย ยาไดไอโอโดไฮดรอกซิควิน (Diiodohydroxyquin) 100 มิลลิกรัม ยาเบนซัลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium choride) 7 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อรา และสามารถนำมาใช้รักษาอาการเชื้อราในช่องคลอดได้

ผู้ที่มีอาการเชื้อราในช่องคลอดสามารถยาไกเนคอนเพื่อสอดช่องคลอดครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1–2 ครั้ง โดยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 7 วัน หรือตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา นอกจากนี้ ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดบางชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยลดลง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

นอกจากการใช้ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดแล้ว ควรดูแลตัวเองเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น ใส่ชุดชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป งดการสวนล้างช่องคลอด รักษาบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ หากอาการเชื้อราในช่องคลอดยังคงไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 20 กันยายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD