5 ยาแก้ปวดหัว ตัวช่วยบรรเทาอาการปวดที่ใช้แล้วเห็นผล

ยาแก้ปวดหัว เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เช่น ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache) ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension headche) ยาแก้ปวดหัวส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน และสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป 

ปวดหัว เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการปวดหัวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไข้หวัด ความเครียด ปัญหาสายตา โดยการรับประทานยาแก้ปวดหัวที่มีประสิทธิภาพดีอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้

Headache Medicines

ยาแก้ปวดหัวประสิทธิภาพดีที่แนะนำ

ยาแก้ปวดหัวที่ใช้แล้วสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้อย่างเห็นผล อาจมีดังนี้

1. ซาร่า (Sara) ขนาด 10 เม็ด/แผง

Aug240201

ยาแก้ปวดหัวตราซาร่าเป็นยาลดปวดที่มีตัวยาสำคัญคือพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม โดยยาแก้ปวดหัวซาร่าเป็นยาที่เหมาะสำหรับรักษาอาการปวดหัวระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง อีกทั้งยังอาจช่วยลดไข้ที่อาจมาพร้อมกับอาการปวดหัวอีกด้วย

โดยยาแก้ปวดหัวตราซาร่าที่มีพาราเซตามอลเหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี โดยควรรับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งปริมาณยาอาจขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนัก 34–50 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด  น้ำหนักมากกว่า 50–67 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง และน้ำหนักมากกว่า 67 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละไม่เกิน 4 ครั้ง

2. นิวโรเฟน ซาวานซ์ (Nurofen Zavance) ขนาด 10 แคปซูล/แผง

Aug240202

นิวโรเฟน ซาวานซ์เป็นยาแก้ปวดหัวที่มีส่วนผสมของยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ปริมาณ 400 มิลลิกรัม ซึ่งเหมาะสำหรับรักษาอาการปวดหัว ปวดไมเกรน หรือปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวที่มีระดับไม่รุนแรงมากหรือปานกลาง อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ เช่น ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ

โดยผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปสามารถรับประทานยานิวโรเฟน ซาวานซ์เพื่อลดอาการปวดหัว ครั้งละ 1 แคปซูล ทุก 6 ชั่วโมง โดยควรรับประทานยาหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหารเพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

3. โกเฟน (Gofen) ขนาด 10 แคปซูล/แผง

Aug240206

โกเฟนเป็นอีกหนึ่งยาแก้ปวดหัวที่มีส่วนประกอบของยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ปริมาณ 400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงอาการปวดหัวต่าง ๆ เช่น ปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว

ยาแก้ปวดหัวโกเฟนเป็นยาที่อาจออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นภายในแคปซูลบรรจุยาไอบูโพรเฟนในรูปแบบเจล จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมยาได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดอาการปวดหัวได้เร็วยิ่งขึ้น

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปควรรับประทานยาโกเฟนครั้งละ 1 เม็ด ไม่เกินวันละ 3 แคปซูล ทุก ๆ 4–6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหัว โดยควรรับประทานยาหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

4. นาโปรเฟล็ก (Naproflex) ขนาด 6 เม็ด/แผง

Aug240207

ยาแก้ปวดหัวตรานาโปรเฟล็กเป็นยาที่มีส่วนผสมของยานาพร็อกเซน โซเดียม (Naproxen Sodium) ปริมาณ 275 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับยานาพร็อกเซน (Naproxen) ปริมาณ 250 มิลลิกรัม โดยยาแก้ปวดหัวตรานาโปรเฟล็กอาจเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการรักษาปวดหัวที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

การรับประทานยานาโปรเฟล็กที่มีส่วนผสมของยานาพร็อกเซน โซเดียมสามารถรับประทานได้เมื่อเริ่มมีอาการปวดหัว โดยผู้ที่มีอาการปวดควรรับประทานยาวันละ 1 เม็ด ทุก 6–8 ชั่วโมงเพื่อช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้น โดยควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือหลังจากรับประทานอาหารทันที

5. พอนสแตน (Ponstan) ขนาด 10 เม็ด/แผง

Aug240205

พอนสแตนเป็นยาแก้ปวดหัวที่มียาเมเฟนามิก แอซิด (Mefenamic acid) ขนาด 500 มิลลิกรัม ถึงแม้ว่าพอนสแตนจะเป็นยาที่มักนิยมนำมารักษาอาการปวดประจำเดือน แต่ยานี้ก็สามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดหัวที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางได้เช่นกัน

การรับประทานยาพอนสแตนเพื่อแก้ปวดหัว ควรรับประทานครั้งละ 1 เม็ดเมื่อเริ่มมีอาการปวด วันละ 3 ครั้ง โดยควรรับประทานยาหลังอาหารหรือพร้อมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร 

ยาแก้ปวดหัวที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดหัวส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพร็อกเซน ยาเมเฟนามิก แอซิด ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะหรือมีปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาใด ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดหัวสามารถใช้วิธีแก้ปวดหัวอื่น ๆ ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวดหัว เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ประคบร้อนหรือประคบเย็นที่หัว นวดบริเวณที่มีอาการปวดเบา ๆ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดหัวไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยา ปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดหัวบ่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้