ยาแก้ไอเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และช่วยให้อาการไอดีขึ้น ซึ่งยาแก้ไอที่หาซื้อได้เองมีหลายประเภท เช่น ยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอแห้ง ช่วยให้ชุ่มคอ ยาสำหรับผู้ที่ไอมีเสมหะ โดยช่วยละลายและขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การใช้ยาแก้ไอให้ได้ผลคือการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการไอที่เป็นอยู่
ไอเป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ รวมไปถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และหลอดลมอักเสบ อาการไอมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ การใช้ยาแก้ไอที่หาซื้อได้เองจะช่วยบรรเทาอาการไอและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
ยาแก้ไอที่หาซื้อได้เองและวิธีการกินให้ปลอดภัย
ยาแก้ไอที่วางขายทั่วไปประกอบด้วยตัวยาสำคัญที่แตกต่างกัน และมีหลายรูปแบบ เช่น ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม ยาเม็ด และแคปซูล ตัวอย่างยาแก้ไอที่หาซื้อได้เอง มีดังนี้
1. ยาแก้ไอ LP น้ำดำ ตราเสือดาว ขนาด 60 มิลลิตร
ยาแก้ไอ LP น้ำดำ ตราเสือดาว มีส่วนประกอบของสารสกัดชะเอมเทศ แอนติโมนีโพแทสเซียมทาร์เทรต (Antimony Potassium Tartrate) และทิงเจอร์ฝิ่นการบูร (Camphorated Opium Tincture) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอแห้ง และทำให้ชุ่มคอ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหวัด และหลอดลมอักเสบ
ยานี้ใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี โดยควรเขย่าขวดก่อนก่อนรับประทานยา ขนาดที่แนะนำให้รับประทานตามฉลากยา คือ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1–2 ช้อนชา เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ ½–1 ช้อนชา วันละ 3–4 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการไอ
ห้ามใช้ยาแก้ไอ LP น้ำดำติดต่อกันเกิน 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาแก้ไอน้ำดำนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เนื่องจากทำให้เกิดอาการง่วงซึมหลังใช้ยา
2. ไบโซลวอน (Bisolvon) ชนิดเม็ด ขนาดแผงละ 10 เม็ด
ไบโซลวอนเป็นยาแก้ไอชนิดเม็ด ประกอบด้วยตัวยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine Hydrochloride) 8 มิลลิกรัม มีสรรพคุณละลายเสมหะ และบรรเทาอาการไอจากโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมปอดอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีการหลั่งของเสมหะผิดปกติ
ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุเกิน 12 ปี คือรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ ½ เม็ด วันละ 3 ครั้ง และเด็กอายุ 2–6 ปี รับประทานครั้งละ ½ เม็ด วันละ 2 ครั้ง
3. ยูจิก้า (Eugica) ไอวี่ ไซรัป ขนาด 100 มิลลิตร
ยาแก้ไอยูจิก้า เป็นยาน้ำเชื่อมกลิ่นน้ำผึ้ง มีส่วนประกอบสำคัญคือสารสกัดจากใบไอวี่ (Ivy Leaves Powdered Extract) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ และขับเสมหะที่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด และโรคหลอดลมอักเสบ ยาแก้ไอยูจิก้าไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล แอลกอฮอล์ และสีสังเคราะห์
ยาแก้ไอยูจิก้า ไอวี่ ไซรัปใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการไอมีเสมหะ ขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือ เด็กอายุ 2–5 ปี รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิลิตร เด็กอายุ 6–11 ปี รับประทานครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
ห้ามใช้ยาแก้ไอนี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีโรคกระเพาะอาหารหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
4. โซลแมค (Solmax) แคปซูล ขนาดแผงละ 10 เม็ด
โซลแมคเป็นยาแก้ไอชนิดแคปซูล มีตัวยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) 500 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยละลายเสมหะที่เหนียวข้น และช่วยบรรเทาอาการไอ เนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด หลอดลมและถุงลมพอง และอาการไอที่เกิดจากโพรงจมูกอักเสบ
ยาแก้ไอโซลแมคเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยรับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หรือตามที่แพทย์สั่ง ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาแก้ไอโซลแมคในผู้ที่มีแผลในเยื่อบุทางเดินอาหาร
5. ยาน้ำแก้ไอยูอีคอฟ (Uecof) โอเอส สูตรผสมมะขามป้อม ขนาด 120 มิลลิลิตร
ยาแก้ไอยูอีคอฟ โอเอส มีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายชนิด เช่น ผลมะขามป้อม มะนาวดองแห้ง ผิวส้มจีน บ๊วย สมอภิเภก สมอไทย รากชะเอมเทศ บรรเทาอาการไอแห้ง ช่วยให้ชุ่มคอ และช่วยขับเสมหะ
ยานี้ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล ใช้ซูคราโลส (Sucralose) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยเบาหวาน
ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 1–2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ทั้งนี้ ผู้ที่ท้องเสียง่ายควรระมัดระวังในการใช้ยาแก้ไอนี้ เนื่องจากมีส่วนผสมของมะขามป้อมที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
การรับประทานยาแก้ไอตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาหรือตามที่เภสัชกรแนะนำ มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้ไอ ผู้ที่มีอาการแพ้ตัวยาสำคัญหรือส่วนผสมใด ๆ ในยา ไม่ควรรับประทานยาที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ยา
ทั้งนี้ ห้ามรับประทานยาแก้ไอหลายตัวพร้อมกัน เพื่อป้องกันการรับประทานยาตัวเดียวกันซ้ำซ้อน อีกทั้งยาแก้ไอบางชนิดมีส่วนประกอบของยาอื่นอยู่ด้วย เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ และยาแก้ปวด จึงควรอ่านฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบก่อนรับประทานยา เพื่อป้องกันการรับประทานยาเกินขนาด ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
หากใช้ยาแก้ไอควบคู่กับการดูแลตัวเอง เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ และหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดการระคายคอแล้วอาการไอยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และเจ็บหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์