อาการหายใจครืดคราดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับเด็ก โดยเฉพาะในวัยทารก คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาวิธีดูแลเมื่อทารกหายใจครืดคราดเอาไว้ เพราะหากลูกน้อยมีอาการหายใจครืดคราด หายใจมีเสียงดัง หรือหายใจมีเสียงหวีด คุณพ่อคุณแม่จะได้รับมือและดูแลได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เกิดความตื่นตระหนกหรือกังวลใจจนเกินไปนั่นเอง
อาการหายใจครืดคราดในเด็กเล็กโดยส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทั่วไป เช่น อาการจมูกแห้ง อาการแพ้ อย่างการแพ้อากาศ แพ้ไรฝุ่น หรือแพ้สัตว์เลี้ยง รวมถึงอาจมีสาเหตุมาจากไข้หวัดตามฤดูกาล หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ลูกน้อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และหายใจครืดคราดตามมา ซึ่งหากปล่อยเอาไว้อาจส่งผลกระทบต่อการหายใจของเด็ก หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้
เรียนรู้วิธีดูแลเมื่อทารกหายใจครืดคราด
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตการหายใจของลูกอยู่เสมอ หากลูกน้อยมีเสียงหายใจที่ต่างออกไปจากปกติ มีจังหวะการหายใจที่เร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก มีเสมหะ นอนอ้าปาก ควรรีบดูแลลูกอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ตามมา
ในเบื้องต้นการดูแลเมื่อทารกหายใจครืดคราดมีวิธีการดังนี้
1. ให้ลูกกินนมหรือจิบน้ำอยู่เสมอ
หากเด็กทารกมีอาการหายใจครืดคราดจากการเป็นไข้หวัด ควรกระตุ้นให้กินนมแม่ หรือให้จิบน้ำเปล่าในกรณีที่เด็กทารกมีอายุเกิน 6 เดือนแล้ว เพื่อทดแทนของเหลวในร่างกายที่สูญเสียไปจากการมีไข้หรือการผลิตเสมหะ รวมถึงช่วยลดอาการจมูกแห้ง และช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม ควรให้ลูกกินนมหรือจิบน้ำทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้กินปริมาณมากในครั้งเดียวเพื่อป้องกันการสำลัก
เหตุผลที่ควรให้เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนกินนมแม่แทนน้ำ เพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญโตมากที่สุด และนมแม่ยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในเด็กทารก ทำให้สามารถต่อสู้กับไข้หวัดได้
2. จัดท่าทางของลูกให้เหมาะสม
หากลูกมีอาการหายใจครืดคราด คุณพ่อคุณแม่ควรจัดท่าทางของลูกขณะตื่นและขณะหลับอย่างเหมาะสม โดยในขณะตื่นควรให้ลูกนั่งตัวตรง ส่วนในขณะหลับควรให้ลูกหลับในท่านอนหงายโดยยกศีรษะขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นท่าทางที่ไม่ขัดขวางทางเดินหายใจ สามารถช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น และอาจช่วยลดอาการหายใจครืดคราดขณะนอนหลับได้
3. หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกสูดดมควันหรือฝุ่น
หากทารกมีอาการหายใจครืดคราด คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงจากบริเวณที่มีควัน ฝุ่น หรือมลภาวะ เช่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ เพราะการสูดดมควันอาจทำให้อาการหายใจครืดคราดของลูกรุนแรงขึ้น และควันเหล่านี้ยังเป็นสารพิษที่สามารถทำร้ายระบบทางเดินหายใจของเด็ก รวมถึงสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวได้ด้วย
4. ให้ลูกรับประทานยาสำหรับเด็ก
หากอาการหายใจครืดคราดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอาการแพ้ อาการไข้หวัด หรืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การรับประทานยาแก้แพ้ ยาแก้ไข้ หรือยาลดน้ำมูกสำหรับเด็กที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ลูกน้อยหายใจครืดคราดได้
อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดไม่สามารถใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยมาก ๆ ได้ เช่น เด็กทารกแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาไปพบแพทย์หากลูกมีอาการป่วยเกิดขึ้น รวมถึงปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอายุของลูกและยาที่สามารถรับประทานได้ และควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
5. ล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือ
การล้างจมูกหรือหยดจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยให้น้ำมูกหรือเสมหะที่เหนียวข้นและอุดตันอยู่ภายในรูจมูกของลูกอ่อนนุ่ม ทำให้สามารถกำจัดออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากจมูกโล่งก็จะช่วยลดอาการหายใจครืดคราด และส่งผลให้ลูกน้อยสามารถหายใจได้อย่างสะดวกมากขึ้น น้ำเกลือที่ใช้ในการล้างจมูกหรือหยดจมูกเด็กเล็กควรเป็นน้ำเกลือทางการแพทย์ที่มีความเข้มข้น 0.9% และเป็นน้ำเกลือที่ได้มาตรฐาน ปราศจากการปนเปื้อน
โดยการล้างจมูกมีวิธีการดังต่อนี้
1. การล้างจมูกด้วยไซริงจ์
การล้างจมูกด้วยไซริงจ์เป็นการใช้ไซริงจ์ค่อย ๆ ดูดน้ำเกลือในถ้วยแก้วแล้วหยดหรือฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกของลูกจนน้ำมูกภายในรูจมูกอ่อนนุ่ม จากนั้นใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูก เช่น ลูกยางแดง ดูดน้ำมูกออกมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเด็กเล็กมักดิ้นหรืองอแงในขณะล้างจมูก หากไซริงจ์ที่ใช้มีขนาดใหญ่และแข็ง ปลายของไซริงจ์อาจบาดรูจมูกของเด็กได้ และหากฉีดน้ำเกลือแรงมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสำลักได้ จึงควรล้างจมูกลูกน้อยด้วยความระมัดระวัง นอกจากนั้น ยังควรระมัดระวังในการจัดเก็บน้ำเกลือที่เปิดใช้แล้วด้วย เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสิ่งสกปรกได้
2. การล้างจมูกด้วยอุปกรณ์ล้างจมูก
ในปัจจุบันมีการผลิตน้ำเกลือล้างจมูกแบบสำเร็จรูปเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการล้างจมูกให้แก่เด็กเล็ก โดยผลิตภัณฑ์ล้างจมูกแบบสำเร็จรูปจะมีวิธีการใช้งานที่ง่ายมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนในการเตรียมอุปกรณ์ล้างจมูก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้น จึงเหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่
ผลิตภัณฑ์มักมีขนาดเล็กเหมาะกับการล้างจมูกเด็กทารก จึงทำให้บีบน้ำเกลือออกมาในปริมาณที่พอเหมาะและไม่เสี่ยงต่อการสำลัก รวมถึงมักใช้วัสดุที่มีรูปทรงเหมาะสมกับรูจมูกของลูกน้อย ทำให้สามารถล้างจมูกได้อย่างปลอดภัย
เคล็ดลับในการล้างจมูกให้ง่ายและปลอดภัยต่อทารก
คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการล้างจมูกต่อไปนี้ ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ง่ายและปลอดภัยต่อลูกในระหว่างการล้างจมูก
- ควรเริ่มล้างจมูกเมื่อเด็กทารกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไปเพื่อให้เกิดความปลอดภัย หากเด็กทารกมีอายุน้อยกว่า 6 เดือนควรล้างจมูกด้วยความระมัดระวัง และอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
- หากมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หรือมีเสมหะอุดตันในทางเดินหายใจ ควรล้างจมูกวันละ 2 ครั้งหลังจากตื่นนอนและก่อนเข้านอน และหลังจากการล้างจมูกควรทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทุกครั้ง
- ควรเลือกใช้น้ำเกลือล้างจมูกที่สะอาด ปลอดภัย และปราศจากการปนเปื้อน รวมถึงใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์อยู่ที่ 0.9% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูกของลูกน้อย
- การล้างจมูกสำหรับเด็กทารกอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างจมูกแบบสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยให้การล้างจมูกง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเหมาะกับสรีระรูจมูกของเด็ก บรรจุภัณฑ์ออกแบบมาให้สามารถบีบน้ำเกลือได้ในปริมาณที่เหมาะสมและน้ำเกลือไม่แรงเกินไปจนทำให้เด็กเกิดการสำลัก
- ในกรณีที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างจมูกแบบสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน และมีฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อลูกน้อย
- ท่าล้างจมูกสำหรับเด็กทารกควรเป็นท่านอนยกศีรษะสูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำลัก
- ในระหว่างการล้างจมูกน้ำเกลือจะไหลออกทางรูจมูกอีกข้างหรือทางปากของลูก ควรให้ลูกบ้วนน้ำเกลือทิ้ง แต่หากลูกเผลอกลืนน้ำเกลือลงคอก็มักไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
- ควรล้างจมูกในขณะที่ท้องว่าง หรือล้างจมูกหลังจากรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอาเจียนหรือสำลักตามมา
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบสารพัดวิธีดูแลเมื่อทารกหายใจครืดคราดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดอาการเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมโดยปราศจากความกังวลใจ อีกทั้งเมื่อลูกน้อยไม่มีอาการหายใจครืดคราดแล้ว ลูกน้อยก็จะหลับสนิท พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และไม่มีอาการงอแงตามมาด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการหายใจครืดคราดในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่รุนแรงอย่างกลุ่มอาการหายใจลำบาก หรือโรคปอดบวม หากลูกมีอาการหายใจครืดคราดร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหายใจเร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที หยุดหายใจนานกว่า 20 วินาที หรือมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น ตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บมีสีเขียวคล้ำหรือสีม่วง ควรรีบพาไปพบแพทย์