วิธีรักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเองมีอยู่หลายวิธี เช่น การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการรักษาเส้นเลือดขอดไม่เพียงแต่ ช่วยให้ผิวหนังมีความเรียบเนียนและส่งผลต่อความมั่นใจเท่านั้น แต่ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายอย่างการเกิดลิ่มเลือดด้วย
เส้นเลือดขอดเกิดจากการที่หลอดเลือดดำขยายใหญ่ขึ้นจนสามารถมองเห็นเป็นเส้นที่มีลักษณะปูดโปนบนผิวหนัง โดยมักเกิดขึ้นบริเวณขาส่วนน่องและส่งผลให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียนสวยงาม อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการคัน บวม ปวดเมื่อย เจ็บแสบ เกิดแผล หรือมีเลือดออกบริเวณผิวหนังได้ด้วย จึงควรหาวิธีรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
5 วิธีรักษาเส้นเลือดขอดง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
ผู้ที่มีเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นไม่ว่าจะบริเวณต้นขา น่อง หรือผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย จนเกิดอาการเจ็บปวด แสบคัน หรือเกิดความไม่มั่นใจ สามารถลองทำตามวิธีการต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการของเส้นเลือดขอดให้ดีขึ้นได้
1. ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ
การยกขาพาดบนที่สูงเพื่อให้ขาอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณขา ทำให้เลือดที่สะสมคั่งค้างในหลอดเลือดดำไหลไปในทิศทางที่เหมาะสม และอาจช่วยให้เส้นเลือดขอดบริเวณขาดีขึ้นได้ โดยมีวิธีการง่าย ๆ คือให้ยกขาพาดกับผนังห้อง หรือใช้หมอนหนุนขาให้ยกสูงขึ้นวันละประมาณ 2–3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15 นาที
2. เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายเบา ๆ
การเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยให้เลือดสูบฉีดได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้อาการบวมปูดของเส้นเลือดขอดลดลงได้ โดยการเคลื่อนไหวร่างกายที่สามารถทำได้ง่าย ๆ คือการเดิน โดยอาจเดินในบริเวณรอบ ๆ บ้าน หรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายไปมา เช่น การทำความสะอาดบ้าน ก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในผู้ที่ต้องทำงานที่มีการนั่งหรือยืนในท่าเดิมตลอดทั้งวัน และหาเวลาในการออกกำลังกายได้ยาก อาจใช้วิธีการนั่งหรือยืนเขย่งเท้าและขยับขาขึ้นลงไปมาระหว่างวัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ขาเกิดการเคลื่อนไหวก็ได้เช่นกัน
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างสามารถส่งผลให้อาการของเส้นเลือดขอดที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้ เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น โดยเฉพาะกางเกงที่รัดแน่นบริเวณเอว ต้นขา น่อง หรือขาหนีบ รวมถึงการนั่งหรือยืนในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย
ผู้ที่มีเส้นเลือดขอดจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงที่รัดแน่น เช่น กางเกงยีนส์ขาเดฟ และควรหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ โดยการลุกขึ้นยืนหรือเดินเพื่อยืดเส้นยืดสายในระหว่างวันด้วย
4. ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน
ผู้ที่มีอาการเส้นเลือดขอดควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพราะใยอาหารจะช่วยลดอาการท้องผูก ช่วยลดแรงในการแบ่งอุจจาระ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนล่างไม่เกิดอาการเกร็งเวลาขับถ่าย และช่วยป้องกันไม่ให้เส้นเลือดขอดที่เป็นอยู่ขยายตัว หรือช่วยป้องไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้น
รวมถึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมและสารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และส่งผลดีต่ออาการเส้นเลือดขอด
อาหารที่มีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ มักจะเป็นอาหารจำพวกผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วชนิดต่าง ๆ ตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทาน เช่น ผักใบเขียว ผักตระกูลกะหล่ำ แครอท พริกหวาน กล้วย แอปเปิ้ล กระเทียม และหัวหอม
5. สวมถุงน่องรัดกล้ามเนื้อ
ถุงน่องรัดกล้ามเนื้อจะมีลักษณะคล้ายกับถุงน่องหรือถุงเท้าแบบยาวทั่วไป แต่จะมีคุณสมบัติในการบีบรัดกล้ามเนื้อเบา ๆ ช่วยให้เลือดไม่เกิดการสะสมคั่งค้าง และส่งผลให้หลอดเลือดดำที่มีอาการเส้นเลือดขอดไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น หากใส่ถุงน่องรัดกล้ามเนื้อต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ก็อาจช่วยบรรเทาอาการบวม อาการปวด หรืออาการคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนังให้ดีขึ้นได้
สำหรับผู้ที่รักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล มีเส้นเลือดขอดที่รุนแรง หรือเส้นเลือดขอดส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์และความมั่นใจอย่างมาก อาจใช้วิธีการรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์ เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ การฉีดสารบางชนิดเข้าสู่หลอดเลือด หรือการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดขอดมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ใหม่หลังจากการรักษาได้เช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน