5 วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะเบื้องต้นอย่างปลอดภัยและได้ผล

วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะเบื้องต้นมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา เช่น ยาลดกรด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภท ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดจากโรคกระเพาะในเบื้องต้นเท่านั้น แต่สามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการในระยะยาวด้วย

อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร ผลข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ความเครียด รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นได้

วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพราะ

5 วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะเบื้องต้นง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะ สามารถบรรเทาอาการได้ด้วย 5 วิธีการง่าย ๆ ดังนี้

1. ปรับอาหารที่รับประทาน

อาหารบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด อาหารแปรรูป อาหารที่เป็นกรด อาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว ให้รับประทานในปริมาณน้อย ๆ แต่แบ่งรับประทานเป็นหลายมื้อแทน

ทั้งนี้ อาหารบางชนิดอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ เช่น ผักผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง ธัญพืช ถั่ว และพืชสมุนไพรอย่างกระเทียมและขมิ้น จึงควรเน้นรับประทานอาหารเหล่านี้ด้วย

2. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดโรคกระเพาะเฉียบพลัน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรเลิกสูบบุหรี่ด้วยฃ

3. ใช้น้ำมันหอมระเหยบางชนิด

การใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นวิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะเบื้องต้นที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง โดยให้นำน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันตะไคร้ น้ำมันขิง น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันเปปเปอร์มินต์ มาผสมกับน้ำมันตัวกลางอย่างน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาทาบริเวณท้อง น้ำมันหอมระเหยจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะได้

4. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นประจำ

การใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน หรือยาแอสไพรินเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะ และทำให้เกิดอาการปวดท้องตามมาได้ จึงควรใช้ยาเหล่านี้เท่าที่จำเป็น โดยใช้ยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำเท่านั้น รวมถึงอาจเปลี่ยนไปใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นที่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพน้อยกว่า เช่น ยาพาราเซตามอล 

5. รับประทานยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

ยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหลายชนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะได้ เช่น ยาลดกรดหรือยาที่มีคุณสมบัติช่วยปรับค่า PH ในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางมากขึ้น โดยยาเหล่านี้จะช่วยลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาการปวดท้องบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

วิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะเบื้องต้นทั้ง 5 วิธีนี้สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ที่บ้านโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะนานเกิน 1 สัปดาห์ มีอาการปวดท้องเกิดขึ้นเป็นประจำ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีดำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม