เมื่อมีอาการเวียนหัวเกิดขึ้น จะรู้สึกหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม บ้านหมุน เสียการทรงตัว และมักจะรู้สึกคลื่นไส้ร่วมด้วย ทั้งนี้ วิธีแก้เวียนหัวมีอยู่หลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ หากคุณรู้วิธีแก้เวียนหัวที่ถูกต้องและปลอดภัย ก็จะสามารถรับมือกับอาการเวียนหัวที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการเวียนหัวเกิดจากความผิดปกติของระบบการทรงตัว โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการเมารถ อาการแพ้ท้อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำ ความเครียด ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดด้วย
วิธีแก้เวียนหัวแบบง่าย ๆ
บทความนี้จะมาแนะนำ 5 วิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวได้อย่างอยู่หมัด ดังนี้
1. หยุดทำกิจกรรมและนั่งหรือนอนพัก
หากเกิดอาการเวียนหัวขึ้นในระหว่างที่กำลังเดินหรือขณะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ควรหยุดทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มจนเกิดการบาดเจ็บตามมาได้ จากนั้นควรนั่งหรือนอนยกหัวสูง และหลับตานิ่ง ๆ สักพักจนกว่าจะรู้สึกว่าอาการเวียนหัวหรืออาการบ้านหมุนที่เกิดขึ้นบรรเทาลง
2. อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
บ่อยครั้งอาการเวียนหัวมักเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายเจอกับอากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงการอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัดเป็นเวลานานมากเกินไป จนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก เกิดภาวะขาดน้ำ และมีอาการเวียนหัวตามมา หากมีอาการเวียนหัวเกิดขึ้นควรนั่งพักในสถานที่ที่มีอากาศเย็นหรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก เช่น ในห้องแอร์ หรือบริเวณที่มีลมพัด
3. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
อาการเวียนหัวอาจเกิดขึ้นเพราะร่างกายขาดน้ำ การดื่มน้ำเปล่าจึงเป็นวิธีแก้เวียนหัวอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ๆ โดยควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรืออาจลองดื่มน้ำขิงก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเพิ่มขึ้นได้
4. ลองทำกายบริหารแบบ Epley maneuver
การทำ Epley maneuver เป็นการทำกายบริหารเบา ๆ ที่สามารถช่วยลดอาการเวียนหัวได้ โดยมีวิธีการดังนี้
1. นั่งเหยียดขาตัวตรงบนพื้นเรียบโดยมีหมอนวางอยู่ด้านหลัง หรืออาจนั่งบนเตียงก็ได้เช่นกัน
2. หันหน้าไปทางขวา 45 องศา จากนั้นทิ้งตัวนอนหงายอย่างรวดเร็วโดยที่ศีรษะยังอยู่ในทิศทางเดิม และหมอนจะอยู่บริเวณหัวไหล่ไม่ใช่บริเวณศีรษะ นอนอยู่ในท่านี้ประมาณ 30 วินาที
3. ค่อย ๆ หันหน้าไปทางซ้าย 90 องศาขณะที่นอนอยู่ โดยไม่ต้องยกตัวหรือยกคอขึ้นมา นอนอยู่ในท่านี้ประมาณ 30 วินาที
4. พลิกตะแคงตัวไปทางด้านซ้ายทั้งตัว นอนอยู่ในท่านี้ประมาณ 30 วินาที และค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งตัวตรง
5. รับประทานยาแก้เวียนหัว
อาการเวียนหัวอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากอาการหรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น อาการแพ้ท้อง โรคไมเกรน โรควิตกกังวล หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) แพทย์อาจสั่งจ่ายยาบางชนิดเพื่อช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้วิงเวียนศีรษะทั่วไป ยารักษาโรคไมเกรน ยาบรรเทาอาการวิตกกังวล รวมถึงยาขับปัสสาวะด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอาการเวียนหัวไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยวิธีแก้เวียนหัวเหล่านี้ มีอาการเวียนหัวบ่อย ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป พูดไม่ชัด ขยับตัวไม่ได้ หรือมีอาการเวียนหัวหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจเป็นอาการฉุกเฉินควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที