เพดานปากบวม คืออาการบวม แดง ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับแผลพุพอง อาการปากแห้ง และกล้ามเนื้อกระตุก โดยอาการบวมอาจเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณเพดานแข็งและเพดานอ่อน ผู้ที่เพดานปากบวมอาจรู้สึกเจ็บ รำคาญใจ รับประทานอาหาร และแปรงฟันลำบาก บางกรณีอาการเพดานปากบวมอาจหายได้เอง แต่บางกรณีอาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละกรณี
เพดานปากบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น รับประทานอาหารที่มีลักษณะแข็งจนขีดข่วนบริเวณเพดานปาก เป็นแผลบริเวณเพดานปาก หรืออาจเป็นอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่เพดานปากบวมควรสังเกตอาการของตนเอง เพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการได้อย่างเหมาะสมและหายได้เร็วยิ่งขึ้น
สาเหตุของอาการเพดานปากบวม
เพดานปากบวมอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่อไปนี้
1. บริเวณปากได้รับการบาดเจ็บ
บริเวณปากอาจได้รับการบาดเจ็บได้จากการรับประทานอาหารแข็งที่อาจไปข่วนเพดานปาก เช่น ขนมกรุบกรอบ ลูกอม ผักและผลไม้ที่มีเนื้อแข็ง รวมถึงการรับประทานอาหารที่ร้อนเกินไป ก็อาจลวกบริเวณเพดานปาก ทำให้เกิดแผลพุพอง และมีอาการบวมแดงได้
2. แผลร้อนในและเริมในปาก
แผลร้อนใน มักทำให้รู้สึกเจ็บ เกิดที่บริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือกใกล้ฟัน และอาจเกิดที่บริเวณเพดานอ่อน มีลักษณะเป็นวงหรือรี มีสีขาว เหลืองตรงกลาง และแดงบริเวณรอบ ๆ โดยอาจเกิดจากความเครียด และฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่มักหายได้เองใน 1–2 สัปดาห์
แผลเริมเกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex ที่มักเกิดบริเวณริมฝีปาก แต่ก็สามารถเกิดที่บริเวณเพดานแข็งได้ โดยปรากฏเป็นแผลพุพอง อาจบวมแดง เป็นตุ่มเล็ก ๆ หลายจุด หรือเป็นแผลใหญ่ก็ได้ แต่อาจหายได้เองใน 2 สัปดาห์
หากผู้ที่เพดานปากบวมสงสัยว่าเป็นเริมครั้งแรก หรือแผลในปากมีอาการรุนแรงหรือบ่อยครั้งจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแผลไม่หายดีแม้ผ่านเวลาไปนาน ควรพบแพทย์
3. ปุ่มกระดูกบริเวณเพดานปาก (Torus palatinus)
เป็นปุ่มกระดูกที่มักงอกออกมาบริเวณกึ่งกลางเพดานแข็งในปาก ทำให้เพดานปากบวมกว่าปกติ แต่กรณีอาจมีขนาดที่แตกต่างกันไป และอาจเป็นก้อนเดี่ยว หรือหลายก้อนรวมๆ กันได้ ลักษณะคล้ายผิวมะกรูด
ปุ่มกระดูกบริเวณเพดานปากไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจไม่สะดวกต่อการรับประทานอาหารและแปรงฟัน ทำให้พูดและกลืนอาหารได้ลำบาก บางกรณีที่ปุ่มกระดูกก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อาจต้องนำออกด้วยการผ่าตัด
4. ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
เพดานปากบวม อาจเกี่ยวข้องกับโรคต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Tonsillar Cellulitis) ฝีรอบต่อมทอนซิล (Tonsillar Abscess) และฝีหนองข้างคอหอย (Parapharyngeal Abscess) ซึ่งมักทำให้เกิดอาการบวมในคอ ร่วมกับอาการเจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ กลืนลำบาก รวมถึงเพดานอ่อนในปากบวมแดง
5. มะเร็งช่องปาก
ในกรณีที่พบได้ยาก เพดานปากบวมอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่างมะเร็งช่องปาก ทำให้อาการเพดานบวมมักเกิดพร้อมแผลในปากที่ไม่หายดี มีรอยปื้นสีขาวหรือแดง หรือมีก้อนเนื้อในช่องปาก ฟันหลุดร่วง รู้สึกเจ็บหรือมีอาการปวดที่บริเวณช่องปากหรือในหูร่วมด้วย
วิธีรับมืออาการเพดานปากบวม
วิธีการรับมืออาการเพดานปากบวม ควรขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เพดานปากบวม สามารถบรรเทาอาการในขั้นเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
- ควรบ้วนปากด้วยน้ำเย็น เพื่อให้ปากเย็นลงเมื่อรับประทานอาหารที่ร้อนจัด หรือเพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลร้อนใน
- อาจงดอาหารแข็งและเปลี่ยนมารับประทานอาหารอ่อนนิ่ม เพื่อไม่ให้อาการบวมแย่ลง
- หากมีแผลในปาก เช่น แผลร้อนใน ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเลือกซื้อยาทาแผลในปาก เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย
- รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ ปวดที่เพดานปาก โดยควรปรึกษาเภสัชกรและอ่านฉลากให้ครบถ้วนก่อนใช้ยา
- การขาดน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เพดานปากบวมได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนทำให้ร่างกายขาดน้ำ และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ผู้ที่อาจเป็นแผลเริมครั้งแรก ควรพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสที่เหมาะสม
เราสามารถป้องกันอาการเพดานปากบวมได้ด้วยการระมัดระวังเมื่อรับประทานอาหารแข็ง และรอให้อาหารที่ร้อนจัดอุ่นลงก่อนจึงเริ่มรับประทาน หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งในช่องปาก หรือหากเพดานปากค่อย ๆ มีอาการบวมมากขึ้นโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย