การรับประทานอาหารที่ครบถ้วนอาจยังไม่เพียงพอหรือตอบโจทย์ในการดูแลผิวสำหรับบางคน อาหารผิวหรือสารอาหารที่จะมาช่วยบำรุงผิวโดยเฉพาะจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยฟื้นฟูสุขภาพผิวหนัง พร้อมทั้งลดปัญหาผิวพรรณกวนใจอย่างสิว ริ้วรอย และจุดด่างดำบนใบหน้าได้ตรงจุดมากขึ้น
ในแต่ละวัน ผิวหนังของคนเราถูกทำลายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด การพักผ่อนน้อย การสูบบุหรี่ เครื่องสำอาง หรือสารเคมีต่าง ๆ อาหารผิวที่เข้ามาบำรุงและเสริมการทำงานของผิวหนังจากภายในจึงอาจเป็นตัวช่วยคลายปัญหาสุขภาพผิวต่าง ๆ ได้ ซึ่งไม่เพียงเติมเต็มผิวให้มีสุขภาพดี แต่ยังสร้างความพึงพอใจหรือความมั่นใจให้ตัวเองได้อีกทางด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกคนควรดูแลผิวอยู่เสมอ
5 อาหารผิวสำคัญที่ผิวหนังต้องการ
ที่จริง อาหารผิวไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะมีสารอาหารจำนวนไม่น้อยที่หลายคนคุ้นเคยทั้งชื่อและคุณสมบัติของสารอาหารเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
1. แอสตาแซนธิน (Astaxanthin)
แอสตาแซนธินเป็นเม็ดสีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่ก่อให้เกิดสีชมพูแดงในพืชและสัตว์ มักพบได้ในสาหร่ายขนาดเล็ก ปลาแซลมอน ปู กุ้ง และสัตว์ทะเลต่าง ๆ สารนี้มีคุณสมบัติที่ดีต่อผิวพรรณอย่างมาก อาทิ ต่อต้านสารอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาผิวหนังและโรคผิวหนัง ต้านการอักเสบของผิวหนัง เสริมภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังต่อรังสียูวี และช่วยปกป้องผิวหนังจากการถูกทำลาย
โดยงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าโคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) วิตามินอี หรือแม้กระทั่งวิตามินซี และการศึกษาอีกชิ้นยังเผยว่า การใช้สารแอสตาแซนธินในรูปแบบทาและรับประทานร่วมกัน ช่วยลดเลือนริ้วรอย จุดด่างดำตามวัยดูจางลง และคงความชุ่มชื้นให้ผิวหนังได้ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ต่อผิวเหล่านี้ให้แน่ชัดยิ่งขึ้นในระยะยาว
2. ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide)
จริง ๆ แล้ว ไนอะซินาไมด์เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินบี 3 ที่มีประโยชน์ต่อผิวหนังโดยรวม โดยช่วยเสริมโปรตีนภายในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวดูกระชับและมีสุขภาพดี สร้างเกราะปกป้องผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง รวมทั้งรักษาหรือลดอาการอักเสบ จุดด่างดำ รอยแดงจากปัญหาผิวต่าง ๆ อย่างสิวและผิวหนังอักเสบ แต่ต้องอาศัยความอดทนและมีวินัย เพราะอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
การเลือกใช้ไนอะซินาไมด์ควรคำนึงถึงความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์ แม้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมักมีความเข้มข้นของสารนี้อยู่ที่ 5% หรือน้อยกว่า แต่ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้นข้นต่ำหรือประมาณ 2% จึงจะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนไนอะซินาไมด์ในรูปแบบรับประทานอาจรับประทานในปริมาณที่กำหนดบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือตามที่แพทย์แนะนำ
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างภาวะขาดวิตามินบี 3 โรคเบาหวาน โรคถุงน้ำดี โรคไต มีแผลในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร และสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของไนอะซินาไมด์ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
3. คอลลาเจน (Collagen)
หลายคนรู้จักคอลลาเจนเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นอาหารผิวยอดนิยมที่พบได้ในอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรืออาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งคอลลาเจนนั้นเป็นโปรตีนที่เราสร้างได้โดยธรรมชาติและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผิวหนัง มีส่วนช่วยเติมเต็มผิวหนังในส่วนที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพ ทำให้ผิวหนังแข็งแรง มีความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ปัญหาผิวแห้งและริ้วรอยบนใบหน้าจึงลดน้อยลงได้หากร่างกายมีปริมาณคอลลาเจนที่เพียงพอต่อการนำไปใช้ ทว่าคอลลาเจนอาจสูญเสียหรือเสื่อมสภาพได้จากปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น เราจึงควรเติมคอลลาเจนให้ร่างกายและผิวหนังอยู่เสมอ
แม้คอลลาเจนจะมีคุณประโยชน์ต่อผิวหนัง แต่ถ้าไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายหรือดูดซึมได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผิวหนังอาจได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ หากผู้บริโภคอยากให้คอลลาเจนดูดซึมได้ดีขึ้นอาจเลือกเป็นไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน (Hydrolysed Collagen) หรือเรียกกันตามท้องตลาดว่า คอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen Peptide) ซึ่งผ่านกระบวนการทำให้มีขนาดเล็กลงกว่าคอลลาเจนปกติ ทำให้ดูดซึมและนำไปใช้ได้ง่ายกว่า
4. วิตามินอี (Vitamin E)
วิตามินอีหรือโทโคฟีรอล (Tocopherol) มีบทบาทต่อผิวหนังของคนเราไม่น้อย โดยมีส่วนช่วยในการต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านอาการอักเสบ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและการทำงานของเซลล์ในผิวหนัง อีกทั้งยังป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวการของปัญหาผิวอย่าง หน้าแก่ก่อนวัย ผิวหมองคล้ำ หย่อนคล้อย รวมไปถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินอีที่ร่างการต้องการในแต่ละวันคือ 10 IU หากต้องการเสริมวิตามินอีควรรับประทานตามปริมาณบนฉลากบรรจุภัณฑ์หรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดโทษต่อร่างกาย และผู้มีโรคประจำตัวบางประการควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้วิตามินอี เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
5. วิตามินเอ (Vitamin A)
รู้หรือไม่ว่า วิตามินเอเป็นอาหารผิวที่สำคัญไม่แพ้สารชนิดอื่น ๆ เนื่องจากการขาดวิตามินเออาจส่งผลให้ผิวแห้ง คัน หรือเป็นตุ่มนูนที่รูขุมขนได้ ยิ่งไปกว่านั้น วิตามินชนิดนี้ยังรับหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ยับยั้งการสูญเสียคอลลาเจน ลดการอุดตันรูขุมขน และที่สำคัญชะลอความแก่ คงความอ่อนเยาว์ให้อยู่กับเรานานขึ้น
แหล่งอาหารผิว หาได้ไม่ยาก
โดยทั่วไป อาหารผิวเหล่านี้พบได้ในอาหารแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ หากเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและสมดุลในทุกมื้อก็เพียงพอต่อการนำไปใช้ดูแลสุขภาพผิวแล้ว แต่ถ้าเป็นกังวลว่า ตัวเองอาจไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอเนื่องจากวิถีชีวิตส่วนตัว การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือรับประทานอาหารเสริมก็เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์เช่นกัน
ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงผิวมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน อาทิ แบบผง แบบเม็ด และยังพัฒนาไปสู่รูปแบบอย่างเจลลี่ ซึ่งบางยี่ห้อมีสารอาหารที่ดีต่อผิวหลายตัว ทำให้การเติมอาหารผิวเป็นเรื่องง่ายและประหยัดเวลามากขึ้น โดยผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับปริมาณน้ำตาลและแคลอรีที่ต่ำ เพื่อให้สุขภาพผิวและสุขภาพกายแข็งแรงไปพร้อมกัน ทว่าไม่ควรนำมารับประทานแทนอาหารมื้อหลัก เน้นใช้เป็นตัวช่วยเสริมสุขภาพเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากอาหารผิวหรือส่วนประกอบบางประการอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือลูกน้อยได้
นอกเหนือจากการรับประทานอาหารที่สมดุลหรืออาหารผิวเพื่อสุขภาพผิวที่ดีแล้ว อย่าลืมดูแลและถนอมผิวด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ไม่สูบบุหรี่ ทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และสบู่ที่ทำให้ผิวระคายเคือง หรือเลิกนิสัยแกะเกาผิวหนังหรือใบหน้า สุขภาพผิวดี ๆ จะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ