5 เรื่องน่ารู้ที่จะช่วยให้คุณกินยาอย่างปลอดภัยมากขึ้น

กินยา เป็นสิ่งที่เราทุกคนมักทำเมื่อไม่สบาย ถึงแม้ว่ากินยาจะเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันตั้งแต่เด็กจนโต แต่ถึงอย่างนั้นบางคนก็อาจมีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการกินยาที่เราเข้าใจผิดหรือใช้ไม่ถูกต้องอยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้เราหายป่วยช้าลงหรืออาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยามากขึ้น

การให้ความสำคัญเกี่ยวกับวิธีการกินและการใช้ยาอย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษา เพราะแม้เราจะไม่ได้ป่วยทุกวัน แต่ขั้นตอนและความรู้ง่าย ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้องก็อาจช่วยย่นระยะเวลาของการเจ็บป่วยและช่วยให้เรากินยาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น บทความนี้จะพูดถึงข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับการกินยา

5 เรื่องน่ารู้ที่จะช่วยให้คุณกินยาอย่างปลอดภัยมากขึ้น

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการกินยา

ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้คุณกินยาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1. รู้จักชนิดของยา

การรู้จักชนิดของยาอาจช่วยให้เราใช้ยาแต่ละชนิดได้ระมัดระวังมากขึ้น โดยยาที่ใช้กันในปัจจุบันแบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • ยาที่สามารถซื้อได้เอง หรือยา OTC
    ยา OTC (Over-The-Counter) เป็นยาที่ทุกคนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ และยาอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยส่วนใหญ่ ยา OTC สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำบนฉลาก แต่ก็อาจมีความเสี่ยงของผลข้างเคียงได้
  • ยาตามใบสั่งแพทย์
    ยาชนิดนี้ก็มีลักษณะที่ตรงตามกับชื่อ คือ จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ หลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาจากสถานพยาบาลหรือให้ใบสั่งยากับผู้ป่วยเพื่อนำมาแสดงเพื่อรับสิทธิการซื้อตามร้านขายยา ยาตามแพทย์สั่งส่วนใหญ่มักใช้รักษาโรคที่มีความเฉพาะ เช่น โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะซึมเศร้า และอีกหลายโรค โดยส่วนใหญ่มักเป็นโรคเรื้อรัง และแน่นอนว่ายาตามแพทย์สั่งเสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากกว่ายา OTC

สำหรับยาที่ระบุบนฉลากว่า ยาอันตราย เป็นยาที่มีลักษณะการกินหรือการใช้ที่เฉพาะและมีข้อควรระมัดระวังมากกว่ายาที่ไม่ได้ระบุ สามารถพบได้ทั้งในยา OTC และยาตามแพทย์สั่ง

2. กินยาให้ตรงโรค ตรงอายุ และตรงขนาด

3 สิ่งนี้ส่งผลต่อรักษาโรคไม่น้อย ก่อนกินยาทุกชนิด คุณควรทราบก่อนว่าอาการหรือปัญหาสุขภาพของคุณคืออะไร และมีสาเหตุจากอะไร เพราะการกินยาที่รักษาได้อย่างตรงจุดจะช่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงและทำให้หายป่วยได้เร็วขึ้น หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการป่วยและสาเหตุ ควรปรึกษาเภสัชกร เพราะแม้ว่ายาบางตัวอาจให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน แต่การออกฤทธิ์ต่างกัน ดังนั้น ยาบางชนิดจึงไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้

อีกทั้งคนในแต่ละช่วงอายุมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเด็กที่ระบบในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และผู้สูงอายุที่ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ หากกินยาผิดโรคและผิดขนาดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียง 

นอกจากนี้ขนาดของยาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะการกินยาผิดขนาดไม่ว่ามากหรือน้อยย่อมส่งผลเสีย อย่างทำให้ป่วยนานขึ้นหรือเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด โดยส่วนใหญ่ ยาที่เราใช้มักคำนวณจากน้ำหนักตัว ดังนั้นหากซื้อหรือได้รับยาหลังจากคุยแพทย์และเภสัชกร ควรกินยาตามขนาดที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ

ตัวอย่างของการกินยาผิดชนิดที่พบบ่อยในบ้านเรา คือ การใช้ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) เมื่อเป็นโรคหวัด อันที่จริงแล้ว โรคหวัดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่มักหายได้เอง แต่ยาฆ่าเชื้อใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ดังนั้นการกินยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาโรคหวัดจึงเป็นการใช้ยาที่ไม่ตรงจุดและไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อผลข้างเคียง อย่างเชื้อดื้อยาได้ด้วย 

อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ยาผิดช่วงอายุและผิดขนาด คือ การใช้ยาแก้ไข้ชนิดน้ำสำหรับเด็ก เพราะแม้ว่าจะเป็นตัวยาเดียวกัน แต่ยาน้ำของเด็กแบ่งออกเป็นหลายขนาด คุณพ่อคุณแม่จึงควรอ่านฉลากก่อนซื้อเสมอ ด้วยเหตุนี้ ก่อนกินยาชนิดใดก็ตาม ควรทราบเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนเองก่อน หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

3. กินยาตามเวลา

หลายคนมักสงสัยทุกครั้งที่ต้องกินยาว่ายาก่อนอาหาร หลังอาหารกินยังไง และทำไมต้องก่อนและหลัง ซึ่งสาเหตุและวิธีกินยาตามเวลามีดังนี้

  • ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที หากลืมกินยาก่อนอาหาร ควรเว้น 2 ชั่วโมงหลังอาหาร เพราะยาก่อนอาหารส่วนใหญ่ ควรใช้เมื่อท้องว่างเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ หากเลย 2 ชั่วโมงและใกล้เวลาของยามื้อต่อไป สามารถข้ามไปกินยาก่อนอาหารของมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหาร 15–30 นาที หากเกิน 30 นาที สามารถข้ามไปกินยาหลังอาหารในมื้อถัดไปได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ หากจำเป็นต้องกินยา ควรกินอาหารมื้อเล็ก ๆ รองท้องก่อนเสมอ
  • ยาหลังอาหารทันที ควรกินหลังหรือพร้อมกับมื้ออาหาร หากลืมสามารถข้ามไปกินพร้อมกับอาหารมื้อถัดไปได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา หากเป็นยาสำคัญ ควรกินอาหารมื้อเล็ก ๆ รองท้องก่อนเสมอ

ยาหลังอาหารและยาหลังอาหารทันทีมักเป็นยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารจึงจำเป็นต้องกินร่วมกับอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง

  • ยาก่อนนอน ควรกินก่อนเข้านอนราว 15–30 นาที เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจให้ง่วงซึม คลื่นไส้ หรือเวียนศีรษะได้ หากลืมกิน สามารถข้ามไปกินในคืนถัดไปได้เลยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา และไม่ควรกินในเวลากลางวันหรือตอนเช้า เพราะผลข้างเคียงอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตและอาจเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้
  • ยากินเมื่อมีอาการ ควรกินเมื่อกินเมื่อมีอาการหรือคาดว่ากำลังจะมีอาการ อย่างยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด และยาแก้แพ้ อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกว่ายากินเมื่อมีอาการ แต่ก็ควรใช้ตามที่ฉลากยาระบุไว้

อาจมียาแบบอื่นที่แพทย์อาจแนะนำให้กินในเวลาที่แตกต่างกันไป ซึ่งควรใช้ตามที่แพทย์แนะนำ

4. รู้จักสัญญาณอันตรายจากการกินยา

อาการผิดปกติหลังกินยาพบได้ 2 แบบหลัก ๆ ดังนี้

  • ผลข้างเคียง
    ผลข้างเคียงเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ยาทุกชนิด พบได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง ปานกลาง และรุนแรง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่หากรู้สึกว่าอาการเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์ สำหรับคนที่ใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาบางชนิดหากใช้ร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงได้
  • อาการแพ้ยา
    แพ้ยาเป็นภาวะที่อันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ สามารถสังเกตได้จากอาการแพ้ อย่างผื่นแดงคันตามร่างกายและดวงตา อาการบวมตามผิวหนัง ดวงตา ใบหน้า ริมฝีปาก และลำคอ อาการปวดท้องรุนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่ออก เสียงแหบ และแน่นหน้าอก หากพบสัญญาณของอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

5. ไม่บด หัก หรือแกะยาออกจากแคปซูล

ยาส่วนใหญ่ที่เราใช้กันมักอยู่ในรูปแบบของยาเม็ดและแคปซูล ซึ่งรูปแบบของยาถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้กินได้ อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด เช่น ปกป้องตัวยาจากกรดในร่างกาย ช่วยเรื่องการดูดซึม ช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน หรือช่วยให้กินได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นควรกินยาที่อยู่ในรูปแบบเดิม ไม่บด หัก ผสม หรือนำยาออกจากแคปซูล ไม่เพียงเท่านั้น การบดหรือแกะยาออกจากแคปซูลอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงและการได้รับยาเกินขนาดด้วย หากมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาเม็ด ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยารูปแบบอื่น

วิธีอื่น ๆ ที่จะช่วยให้คุณกินยาได้อย่างปลอดภัย

นอกจากเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการกินยาที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้คุณใช้ยาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่น

  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ หรืออย่างน้อยก็ควรปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการเจ็บป่วยก่อนเลือกซื้อยาไปใช้เอง
  • ควรบอกแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับอาการโดยละเอียด โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ยาที่แพ้ อาหารเสริมและสมุนไพรที่ใช้ หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมทารกก็ควรแจ้งด้วยเช่นเดียวกัน
  • ถามแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้ ปริมาณที่เหมาะสม ความถี่ในการใช้ ระยะเวลาที่ใช้ และผลข้างเคียง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ของคนอื่นหรือยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งโดยตรง และไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้คนอื่นใช้
  • ตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อเตือนเมื่อถึงเวลากินยา
  • อ่านฉลากยาเสมอ เพราะบรรจุภัณฑ์ยาอาจมีลักษณะคล้ายกัน เช่น ซองทึบ ซองฟอยล์ หรือกระปุก ซึ่งการหยิบใช้โดยไม่ทันสังเกตอาจทำให้กินยาผิดชนิดได้ จึงควรใช้ความระมัดระวังและอ่านฉลากเสมอ โดยเฉพาะคนที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาหลายชนิด
  • หากอยู่ระหว่างการกินยาเพื่อรักษาโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ห้ามหยุดยาด้วยตนเองและควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยาเสมอ แม้อาการจะดีขึ้นหรือไม่มีอาการแล้ว เพราะการหยุดยากะทันหันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายและอาจทำให้ดื้อยาได้
  • เก็บยาไว้ในที่ที่เหมาะสม ห่างจากแสง ความร้อน ความชื้น พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง

แพทย์อาจแนะนำวิธีการใช้ยาแบบอื่น ซึ่งอาจแตกต่างไปจากนี้ โดยควรยึดวิธีที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำเสมอ สุดท้ายนี้ การกินยาให้ตรงกับโรค ตรงอายุ ตรงน้ำหนัก ตรงตามเวลา และตรงขนาดด้วยวิธีที่ถูกต้องอาจช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากยาได้ หากมีความผิดปกติหลังใช้หรือมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ยา ควรถามแพทย์และเภสัชกร