ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับออกไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกับยาขับเสมหะ (Expectorant) ที่เป็นยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ เพื่อให้ร่างกายไอขับเสมหะออกไปได้ง่ายขึ้น
ยาละลายเสมหะเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมีเสมหะ เช่น จากโรคไข้หวัด คออักเสบ โรคหลอดลมโป่งพอง โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยสารสำคัญที่สามารถพบได้ในยากลุ่มนี้ก็ได้แก่ อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) บรอมเฮกซีน (Bromhexine) แอมบรอกซอล (Ambroxol) คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine)
ตัวอย่างยาละลายเสมหะที่หาซื้อได้เอง
ยาละลายเสมหะเป็นยาที่มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งยาเม็ดฟู่ ยาเม็ด ยาอม และยาน้ำ โดยตัวอย่างยาที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้เองก็เช่น
1. แนค ลอง (NAC Long) ชนิดเม็ดฟู่
ยาแนค ลอง ชนิดเม็ดฟู่เป็นยาละลายเสมหะที่มีสารสำคัญคือ อะเซทิลซิสเทอีนในปริมาณ 600 มิลลิกรัม ซึ่งจะออกฤทธิ์ช่วยลดความหนืดและความข้นเหนียวของเสมหะเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถไอเพื่อขับออกไปได้ง่ายขึ้น
สำหรับการใช้ยาแนค ลอง ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป แนะนำให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ด ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยให้ละลายยาในน้ำครึ่งแก้ว
2. ซิสทาลีน (Cystaline) ชนิดเม็ดฟู่
ยาซิสทาลีน เป็นยาละลายเสมหะชนิดเม็ดฟู่ ซึ่งเป็นยาชนิดที่ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้ยาต้องละลายเม็ดยาในน้ำก่อนรับประทาน โดยยารูปแบบเม็ดฟู่จะช่วยให้รับประทานยาได้ง่ายขึ้น และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
โดยสารสำคัญของยาซิสทาลีนจะเป็น อะเซทิลซิสเทอีนในปริมาณ 600 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ช่วยละลายเสมหะให้เสมหะมีความข้นเหนียวลดลง
สำหรับการใช้ยา ให้ผู้ใช้ยารับประทานยานี้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหารเย็น โดยให้ละลายยาในน้ำครึ่งแก้ว
3. ไบโซลวอน (Bisolvon) ชนิดเม็ด
ยาไบโซลวอนชนิดเม็ดเป็นยาที่มีสารสำคัญคือ บรอมเฮกซีน ในปริมาณ 8 มิลลิกรัม ซึ่งบรอมเฮกซีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ช่วยลดความหนาตัวของเสมหะที่สะสมอยู่ในช่วงอก เพื่อช่วยให้ร่างกายไอและขับเสมหะออกไปได้ง่าย
สำหรับการใช้ยาไบโซลวอน แนะนำให้ใช้ดังนี้ ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง สำหรับเด็กอายุ 6–12 ปี ให้รับประทานครั้งละครึ่งเม็ด วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กอายุ 2–6 ปี ให้รับประทานครั้งละครึ่งเม็ด วันละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ เนื่องจากยานี้เป็นยาชนิดเม็ด บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กจึงควรระมัดระวังการรับประทานยาของเด็ก เพื่อป้องกันการสำลักยา
4. สเตร็ปซิล ยาอมละลายเสมหะ (Strepsil Chesty Cough) ชนิดยาอม
ยา Strepsil Chesty Cough ชนิดยาอมเป็นยาที่มีสารสำคัญที่ช่วยละลายหรือลดความข้นเหนียวของเสมหะคือ แอมบรอกซอล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ยาไอขับเสมหะออกไปได้ง่ายและรู้สึกโล่งคอมากขึ้น ช่วยบรรเทาอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองในลำคอที่มีสาเหตุมาจากเสมหะ
สำหรับการใช้ยา สำหรับผู้ใหญ่ ให้อมยาครั้งละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กอายุ 5–10 ปี ให้อมยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
5. ยาเฟลมเม็กซ์ (Flemex) ชนิดเม็ด
ยาเฟลมเม็กซ์ชนิดเม็ดเป็นยาที่มีสารสำคัญคือ คาร์โบซิสเทอีน ในปริมาณ 375 มิลลิกรัม ซึ่งจะช่วยละลายหรือลดความข้นเหนียวของเสมหะเพื่อให้ร่างกายขับออกไปได้ง่ายขึ้น และบรรเทาอาการไอ
สำหรับการใช้ยา ให้ผู้ใช้ยารับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
6. ยาโซลแมค ฟอร์ท (Solmax Forte) ชนิดยาน้ำแขวนตะกอน
ยาโซลแมค ฟอร์ท ชนิดยาน้ำแขวนตะกอนเป็นยาที่มีสารสำคัญคือ คาร์โบซิสเทอีนในปริมาณ 500 มิลลิกรัม/ยาในปริมาณ 5 มิลลิลิตร ซึ่งจะออกฤทธิ์ช่วยละลายเสมหะและบรรเทาอาการไอ
สำหรับการใช้ยานี้ สำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 1.5 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง และปรับเป็น วันละ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง จนอาการดีขึ้น สำหรับเด็กอายุ 5–12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละครึ่งช้อนชา วันละ 3 ครั้ง
ทั้งนี้ เนื่องจากยานี้เป็นยาชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ละลายน้ำและมีการตกตะกอนเมื่อวางทิ้งไว้ ดังนั้น ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ผู้ใช้ยาต้องเขย่าขวดยาก่อนรับประทานทุกครั้ง และที่สำคัญ ควรใช้อุปกรณ์ตวงยาตามที่ฉลากยาแนะนำเท่านั้น
สุดท้ายนี้ นอกจากการใช้ยาละลายเสมหะแล้ว การดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ และการใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นให้อากาศก็เป็นอีกทางที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้
นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาละลายเสมหะ ผู้ใช้ยาควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดดีก่อนใช้ทุกครั้ง และหากกำลังใช้ยาหรือป่วยด้วยโรคใด ๆ อยู่ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง และที่สำคัญ หากใช้ยาแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือพบอาการผิดปกติใด ๆ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย