6 ยาแก้เวียนหัวที่ใช้ได้ผลดีและหาซื้อง่าย

ยาแก้เวียนหัวเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวรูปแบบต่าง ๆ เช่น มึนหัว บ้านหมุน หรือเมายานพาหนะ โดยยาแต่ละตัวมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการที่แตกต่างกันไป จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบอาการที่เป็น ซึ่งจะช่วยให้สามารถบรรเทาอาการวิงเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

เวียนหัวเกิดขึ้นได้กับทุกคนและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยบางคนอาจมีอาการวิงเวียน มึน ทรงตัวไม่อยู่ หรือคลื่นไส้ แต่บางคนก็อาจมีอาการบ้านหมุน ซึ่งทำให้รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไปมาทั้งที่ยืนนิ่ง สาเหตุของเวียนหัวอาจมาจากความผิดปกติในหูชั้นใน ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี พักผ่อนไม่พอและอื่น ๆ ได้ ซึ่งการใช้ยาแก้เวียนหัวอาจช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น   

Medicine for Dizziness

ยาแก้เวียนหัวที่หาซื้อง่ายและมีประสิทธิภาพ

ยาแก้เวียนหัวแต่ละตัวสามารถบรรเทาอาการเวียนหัวแบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งยาแก้เวียนหัวที่แนะนำ มีดังนี้

1. สตูเจอรอน (Stugeron) แผงละ 10 เม็ด

Oct-24-04-01

สตูเจอรอนเป็นยาแก้เวียนหัวที่อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ชนิดทำให้ง่วง โดยมีส่วนผสมของซินนาริซีน (Cinnazirine) 25 มิลลิกรัม ที่สามารถแก้เวียนหัวได้ด้วยการต้านสารฮีสตามีนในสมองซึ่งทำให้เกิดอาการเมายานพาหนะ และยังช่วยให้เลือดไหลเวียนบริเวณหูชั้นในดีขึ้นจึงช่วยลดอาการเวียนหัวทั่วไปและบ้านหมุนได้ สตูเจอรอนยังช่วยลดอาการคลื่นไส้ที่อาจเกิดร่วมกับเวียนหัวได้ด้วย

สำหรับอาการเมารถ เมาเรือ ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 13 ปี ควรกินสตูเจอรอน 1 เม็ด ครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง ส่วนเด็กอายุ 6–12 ปี ควรกินครึ่งเม็ด ครึ่งชั่วโมงก่อนเดินทาง และกินซ้ำอีกครั้งได้เมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมง 

สำหรับอาการบ้านหมุน ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ควรกิน 1 เม็ด วันละครั้ง ควรกินยาหลังอาหารเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ทำให้ปวดท้อง และควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรหรือใช้ยานพาหนะเพราะยาอาจส่งผลให้ง่วงซึมได้

1. ดรามามีน (Dramamine) แผงละ 8 เม็ด 

Oct-24-04-02

 

ยาแก้เวียนหัวดรามามีนมีส่วนผสมของเมคลิซีน (Meclizine) 25 มิลลิกรัม ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง โดยยาตัวนี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการเวียนหัวจากการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน รวมถึงอาการบ้านหมุนและคลื่นไส้ อาเจียน ด้วยการต้านสารฮีสตามีนที่ส่งผลให้เกิดอาการ 

ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี สามารถกินยาแก้เวียนหัวดรามามีนได้ โดยควรกินวันละ 1–2 เม็ดต่อวัน ครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง หากลองกินแล้วมีอาการปวดท้องควรกินพร้อมอาหารหรือนมเพื่อลดอาการดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อกินยาแล้วควรหลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องจักรหรือยานพาหนะเนื่องจากยาส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม

2. นาวาเมด (Navamed) แผงละ 2 เม็ด

Oct-24-04-03

 

นาวาเมดเป็นยาแก้เวียนหัวที่ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน เสียสมดุลในร่างกาย และคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการเมายานพาหนะต่าง ๆ โดยนาวาเมดมีตัวยาที่อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ หรือไดเมนไฮดริเนต (Dymenhydrinate) 50 มิลลิกรัม ซึ่งอาจทำให้ง่วงได้ 

ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ควรกินนาวาเมด 1 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ ก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง โดยสามารถกินเพิ่มได้อีกครั้งหลังผ่านไป 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินเกิน 6 เม็ดต่อวัน 

สำหรับเด็กอายุ 6–12 ปี ควรกินนาวาเมดครึ่งเม็ด หรือ 1 เม็ด ทุก 6–8 ชั่วโมง และไม่ควรให้กินยาเกิน 3 เม็ดต่อวัน ส่วนเด็กที่อายุ 2–5 ปี ควรกินยา ¼ เม็ด หรือครึ่งเม็ด ทุก 6–8 ชั่วโมง โดยไม่ควรกินเกิน 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่งต่อวัน และควรกินก่อนออกเกินทาง 30–60 นาที ยาแก้เวียนหัวนาวาเมดสามารถกินกับอาหารหรือไม่ก็ได้ และสามารถเคี้ยวเพื่อให้กินง่ายได้ด้วย

3. เมอริสล่อน (Merislon) แผงละ 10 เม็ด

Oct-24-04-04

ยาแก้เวียนหัวเมอริสล่อนมีส่วนผสมของเบตาฮีสทีน (Betahistine) 12 มิลลิกรัม ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้เลือดไหลเวียนบริเวณหูชั้นในและช่วยลดการคั่งของน้ำเลี้ยงที่หูชั้นใน จึงสามารถใช้แก้อาการเวียนหัว มึนงง ทรงตัวลำบากและอาการบ้านหมุน รวมถึงการได้ยินเสียงวิ้งในหูหรือหูอื้อ ซึ่งเป็นอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้

ผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถกินยาเมอริสล่อนได้ครั้งละครึ่งเม็ด หรือ 1 เม็ด โดยกินวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร เพื่อลดอาการปวดท้องที่อาจเป็นผลข้างเคียงของยาแก้เวียนหัว 

4. ยาดมหงส์ไทย (Hong Thai herbal inhaler) สีเขียว 

Oct-24-04-05

ยาดมหงส์ไทยเป็นยาแก้เวียนหัวที่มีส่วนผสมของสมุนไพรต่าง ๆ เช่น เกล็ดสะระแหน่ การบูร พิมเสน น้ำมันยูคาลิปตัส และอื่น ๆ ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน มึนหัวคล้ายจะเป็นลม และอาการบ้านหมุนหรือเวียนหัวจากการเมายานพาหนะ เนื่องจากสมุนไพรสามารถให้กลิ่นหอมเย็น ช่วยให้รู้สึกสดชื่น 

การใช้ยาดมที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้นไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากอาจทำให้ติดเชื้อโรคได้ และควรถือกระปุกยาดมหงส์ไทยเว้นระยะจากจมูกเล็กน้อย เพื่อไม่ให้สัมผัสกับจมูกโดยตรง รวมถึงควรระวังไม่ให้หายใจรดปากกระปุก เพราะกลิ่นอาจลอยมาเข้าตาและทำให้ระคายเคืองได้ 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ และติดเชื้อในโพรงจมูกควรหลีกเลี่ยงการใช้เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง รวมถึงไม่ควรให้เด็กเล็กใช้ 

5. ยาดมตราโป๊ยเซียน (Poy Sian herbal inhaler) 

Oct-24-04-06

ยาดมโป๊ยเซียนสามารถใช้เป็นยาแก้เวียนหัว บ้านหมุน และเมายานพาหนะต่าง ๆ รวมถึงอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เนื่องจากมีส่วนผสมของเมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่ การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส และพิมเสน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้กลิ่นหอมสดชื่นและทำให้รู้สึกตื่นตัวได้ โดยยาดมโป๊ยเซียนสามารถใช้ได้ทั้งดมและทาในหลอดเดียวกัน 

การใช้ยาดมโป๊ยเซียนเพื่อแก้เวียนหัวให้ถูกวิธี ไม่ควรเสียบหลอดค้างไว้ในจมูก และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดเชื้อโรค ส่วนการใช้ยาดมโป๊ยเซียนหลอดล่างซึ่งเป็นน้ำสำหรับทา ควรทาป้ายที่ผ้าเช็ดหน้า สำลี หรือทาบาง ๆ ที่หน้าอกเพื่อสูดไอระเหย การทาที่นอกจมูกสามารถทำได้แต่ควรทาในปริมาณน้อยเท่านั้น 

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาดมกับผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ เช่น ไซนัสอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ หรือติดเชื้อในโพรงจมูก เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง ทั้งยังไม่ควรใช้บรรเทาอาการเวียนหัวในเด็กเล็กด้วยเช่นกัน 

อาการเวียนหัวมีหลายรูปแบบ และบางครั้งก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ผู้ที่มีอาการเวียนหัวจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทำการเลือกซื้อ โดยหากต้องใช้ยา แพทย์หรือเภสัชกรก็จะช่วยแนะนำยาที่เหมาะสมกับอาการเวียนหัวรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วย  

หลังจากเลือกซื้ออย่างเหมาะสมแล้ว ควรใช้ยาแก้เวียนหัวให้ปลอดภัยด้วยการอ่านฉลากหรือใช้งานตามที่เภสัชกรแนะนำ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ผู้ที่ตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้ยาแก้เวียนหัวทุกครั้ง ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนผสมของยาในกลุ่มเดียวกันควรระวังและไม่กินยา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

นอกจากการใช้ยาแก้เวียนหัวเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ผู้ที่เวียนหัวก็สามารถใช้วิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ เช่น ดื่มชาขิงเพื่อลดอาการเมายานพาหนะ เล่นโยคะเพื่อลดความเครียดที่อาจส่งผลให้เวียนหัว ดื่มน้ำเพิ่มเพื่อลดอาการบ้านหมุน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น 

ถึงแม้ว่ายาแก้เวียนหัวจะช่วยบรรเทาอาการรูปแบบต่าง ๆ ได้ แต่หากมีอาการเวียนหัวและบ้านหมุนอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการเวียนหัวรุนแรงและเฉียบพลันควรไปพบแพทย์ รวมถึงถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก พูดไม่ชัด สูญเสียการได้ยิน เห็นภาพซ้อน หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์ในทันที