6 วิธีเพิ่มความดัน สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันต่ำ

การทำความรู้จักวิธีเพิ่มความดันด้วยตัวเองเอาไว้ อาจเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่มักเกิดอาการจากภาวะความดันต่ำได้ แม้โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะความดันต่ำจะมักไม่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติที่รุนแรง แต่ก็มีบางคนเช่นกันที่มักเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

ภาวะความดันต่ำ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) ต่ำกว่า 90 มม. หรือความดันตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) ต่ำกว่า 60 มม. ซึ่งค่าความดันอาจต่ำเพียงตัวใดตัวหนึ่งหรืออาจต่ำพร้อมกันก็ได้ โดยผู้ที่มักเกิดอาการผิดปกติจากภาวะนี้มักเป็นกลุ่มผู้ที่ความดันต่ำลงอย่างฉับพลันมากกว่าผู้ที่มีภาวะนี้อย่างเรื้อรัง

6 วิธีเพิ่มความดัน สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันต่ำ

วิธีเพิ่มความดันอย่างปลอดภัย

ผู้ที่กำลังมองหาวิธีเพิ่มความดันอาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำควรหมั่นดื่มน้ำให้ได้ตลอดวัน หรือประมาณวันละ 1.5–2 ลิตร/วัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจนำไปสู่ภาวะความดันต่ำได้ นอกจากนี้ การดื่มน้ำยังช่วยเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกายได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดการขาดน้ำและมีความดันที่ต่ำลงได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ตับแข็ง และโรคหัวใจในอนาคตได้อีกด้วย

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำอาจจะลองลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น รวมถึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสม และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันความดันโลหิตต่ำลงอย่างฉับพลันหลังจากรับประทานอาหาร 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำอาจจะเพิ่มปริมาณการบริโภคเกลือหรือโซเดียมเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตของร่างกาย แต่ผู้ป่วยควรกำหนดปริมาณให้ไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัมหรือประมาณ 1–1.5 ช้อนชา หรือปรึกษาแพทย์ก่อนเกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละคน เพื่อป้องกันการบริโภคเกลือที่มากจนเกินพอดี

3. ออกกำลังกายให้มากขึ้น

ผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง ไม่เหนื่อยจนเกินไป อย่างน้อยวันละ 30 นาที แต่ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสถานที่ที่อากาศร้อน หรือมีความชื้นสูง เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

4. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนท่าทางจากท่านอนเป็นท่านั่งหรือยืนอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำเกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำความหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงการโน้มหรือก้มตัวไปข้างหน้าเร็วเกินไป และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดิมนาน ๆ

5. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชา หรือกาแฟ อาจช่วยให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และช่วยให้ความดันโลหิตของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้ชั่วคราว แต่ผู้ที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มในกลุ่มนี้ก็ยังควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการได้รับคาเฟอีนมากเกินพอดี

6. สวมถุงน่องการแพทย์

ถุงน่องการแพทย์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เลือดบริเวณขาสามารถไหลเวียนไปสู่หัวใจได้ดีขึ้น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจึงอาจปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยแนะนำการเลือกซื้อถุงน่องการแพทยืที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย

อาการจากภาวะความดันโลหิตต่ำที่ควรไปพบแพทย์

แม้ภาวะความดันโลหิตต่ำจะมักไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย แต่หากระดับความดันโลหิตในร่างกายต่ำอย่างรุนแรงก็อาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำลงได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเสียหายบริเวณสมองและหัวใจได้

ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำควรไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ 

  • รู้สึกสับสน โดยเฉพาะในผู้สูงวัย 
  • เจ็บหน้าอก
  • ผิวเย็น ผิวซีด 
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ 
  • หน้ามืด 
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • หายใจหอบถี่ 
  • ริมฝีปากหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีฟ้า