6 วิธีแก้เมารถที่สายเดินทางควรรู้

เมื่อเกิดอาการเมารถ การทราบวิธีแก้เมารถจะช่วยป้องกันและดูแลอาการที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเมารถ (Motion Sickness) เป็นอาการไม่สบายตัว เวียนหัว มีเหงื่อออก คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งเกิดขึ้นขณะเดินทางด้วยยานพาหนะที่การเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ และเครื่องบิน

อาการเมารถเกิดได้กับทุกคน แต่จะพบบ่อยในเด็กอายุ 2–12 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน และผู้ที่มีประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวเร็ว โดยปกติแล้ว อาการเมารถมักดีขึ้นหลังจากลงจากยานพาหนะ แต่บางคนอาจมีอาการต่อเนื่องจนทำให้การท่องเที่ยวหมดสนุก ดังนั้น คนที่มีอาการเมารถควรรู้วิธีแก้เมารถและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทาง

Relieve Motion Sickness

รวมวิธีแก้เมารถที่ควรรู้

คนที่มีอาการเมารถบ่อย หรือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเมารถได้ง่ายอาจลองใช้วิธีแก้เมารถต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ระวังเกี่ยวกับการกินอาหารก่อนเดินทาง

วิธีแก้เมารถก่อนการเดินทางคือไม่ควรกินอาหารปริมาณมาก อาหารที่มีไขมันสูง และมีรสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบายท้องและรู้สึกคลื่นไส้ขณะกำลังเดินทางมากกว่าเดิม หากรู้สึกหิว ควรกินอาหารเบา ๆ รองท้อง เช่น ซีเรียล แครกเกอร์ โดยกินก่อนการเดินทางประมาณ 1–2 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนการเดินทาง 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้

2. พกยาแก้เมารถติดกระเป๋า

คนที่เสี่ยงต่อการเมารถหรือประสบปัญหาเมารถเป็นประจำควรเตรียมยาแก้เมารถไว้ทุกครั้งที่เดินทาง โดยยาแก้เมารถที่สามารถหาซื้อได้เอง เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และเมคลิซีน (Meclizine) โดยควรกินยาก่อนออกเดินทาง 30–60 นาที 

ผู้ที่มีอาการเมารถรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาป้องกันอาการเมารถ ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยากิน เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) และโปรเมทาซีน (Promethazine) หรือยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ชนิดแผ่นแปะหลังหู 

ทั้งนี้ ยาแก้เมารถทุกชนิดควรใช้ตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะเด็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ผู้ใช้ยาแก้เมารถไม่ควรขับรถ เพราะอาจทำให้หลับในและเกิดอุบัติเหตุได้

3. เลือกที่นั่งให้เหมาะสม

การเลือกที่นั่งเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้เมารถที่สามารถเตรียมตัวได้ล่วงหน้า โดยมีเทคนิคเลือกที่นั่งขณะเดินทางด้วยยานพาหนะต่าง ๆ ดังนี้

  • การเดินทางด้วยรถ ควรเลือกที่นั่งเบาะหน้า หากนั่งรถโดยสารควรเลือกที่นั่งที่อยู่แถวหน้า ๆ เพราะเป็นตำแหน่งมีแรงกระเทือนน้อย นอกจากนี้ ควรนั่งหันหน้าไปทางเดียวกับที่รถเคลื่อนตัว สำหรับเด็กเล็กและทารก ผู้ปกครองควรเตรียมคาร์ซีท (Car Seat) ที่เหมาะสมกับอายุและขนาดตัวของเด็ก เพื่อความปลอดภัยขณะเดินทาง
  • การเดินทางด้วยรถไฟ ควรเลือกที่นั่งริมหน้าต่าง ที่นั่งควรอยู่แถวหน้า และหันหน้าไปทางเดียวกับที่รถเคลื่อนตัว
  • การเดินทางด้วยเรือ เลือกที่นั่งบริเวณหัวเรือหรือกลางลำเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับระดับน้ำและโคลงเคลงน้อย หลีกเลี่ยงการนั่งใกล้บริเวณที่มีกลิ่นอาหาร น้ำมันเครื่อง และควันจากท่อไอเสีย
  • การเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรเลือกที่นั่งริมหน้าต่างบริเวณด้านหน้าของปีกเครื่องบิน และหลีกเลี่ยงการนั่งใกล้ห้องน้ำและบริเวณที่เตรียมอาหาร

4. ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ

วิธีแก้เมารถที่หลายคนนึกไม่ถึงคือการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่กังวลไปก่อน โดยหายใจเข้าออกลึก ๆ  ฟังเพลงสบาย ๆ และพูดคุยกับคนที่เดินทางไปด้วยกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนได้

5. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการเมารถ

หากเริ่มมีอาการเมารถ ควรหยุดการอ่านหนังสือ การเล่นเกม หรือการชมภาพยนตร์ ควรหาจุดโฟกัสโดยมองออกไปไกล ๆ นอกหน้าต่าง หากมีอาการเมารถมาก ควรนั่งนิ่ง ๆ และหลับตาลงจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น 

หากได้กลิ่นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น กลิ่นอาหารและบุหรี่ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ดมยาดม หรือเดินออกไปสูดอากาศที่ด้านนอก 

6. กินอาหารที่สบายท้อง

ระหว่างเดินทางควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารทอด อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ควรกินอาหารเบา ๆ เช่น แครกเกอร์ ขนมปัง ธัญพืชอบ และกล้วยหอม จิบน้ำเย็น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม เพื่อเพิ่มความสดชื่น นอกจากนี้ การกินลูกอมรสขิงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้เมารถที่ได้ผล เพราะขิงมีสรรพคุณลดการคลื่นไส้และอาเจียน

โดยทั่วไป อาการเมารถมักดีขึ้นหลังจากที่ลงจากยาพาหนะ แต่กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาเจียนไม่หยุด บ้านหมุน ได้ยินเสียงในหูหรือการได้ยินลดลง และแน่นหน้าอก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา