6 คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

ในปัจจุบันคนหันมาให้ความสนใจบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น เนื่องด้วยความหลากหลายของกลิ่นและรสชาติที่มีให้ผู้สูบเลือกมากกว่าบุหรี่ธรรมดา รวมทั้งหลายคนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ทั้งในด้านสุขภาพและด้านกฎหมาย ซึ่งบทความนี้ได้จะมาช่วยคลายข้อสงสัยเหล่านั้นให้ทุกคนได้ทราบกัน

บุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarette) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า พอด (Vape Pod) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความร้อนแก่น้ำยาที่อยู่ภายในและระเหยออกมาเป็นไอน้ำ แทนการเผาไหม้ใบยาสูบในมวนบุหรี่ธรรมดา โดยตัวน้ำยา (E-Liquid หรือ E-Juice) อาจประกอบไปด้วยสารเคมี เช่น นิโคติน (Nicotine) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) หรือสารแต่งกลิ่นและรสต่าง ๆ

6 คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

6 คำถามเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

กลิ่นและรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าอาจดึงดูดให้นักสูบหน้าใหม่และหน้าเก่าหันมาสูบบุหรี่ชนิดนี้กันมากขึ้น แต่หลายคนอาจมีข้อสงสัยหรือความกังวลอยู่ในหัวไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งเรื่องความอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น   

1. บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่

ในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้าม ผู้นำเข้า จำหน่าย หรือครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ 2522 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 โดยจะมีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกันไปตามที่กฎหมายกำหนด

2. บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่

เนื่องจากน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าอาจประกอบไปด้วยสารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การสูบไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นอันตรายและอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในหลายระบบอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น

  • นิโคตินอันเป็นต้นเหตุการเสพติด และส่งผลเสียต่อหัวใจ ปอด หรือสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอย่างปัญหาความจำหรือด้านอารมณ์ ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 
  • โพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน (Glycerine) ทำให้ปอดระคายเคืองและเสี่ยงต่อโรคหอบหืด  
  • สารแต่งกลิ่นและรสที่อาจก่อให้เกิดโรคปอดอย่าสารไดอะซิติล (Diacetyl)
  • สารก่อมะเร็งปอดและมะเร็งอื่น ๆ อย่างฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือเบนซีน (Benzene)
  • ฝุ่นขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM 10 และฝุ่น PM 2.5 
  • สารโลหะหนักบางชนิด เช่น ดีบุก ตะกั่ว นิกเกิล หรือโครเมียม  

3. บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาจริงหรือไม่

แม้จะปราศจากควัน แต่ไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดปอดอักเสบได้ และตราบใดที่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดียวกับในบุหรี่ธรรมดา ผลกระทบต่อสุขภาพก็อาจรุนแรงไม่ต่างกันมากนัก โดยขึ้นอยู่กับปริมาณ ระยะเวลา และความถี่ในการสูบบุหรี่ด้วย

อีกหนึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิตหรือถูกดัดแปลงด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณใบหน้า ดวงตา ช่องปาก ฟัน มือ ต้นขา หรือขาหนีบตามมาได้ 

4. การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้ผู้สูบเสพติดจริงหรือไม่

ไม่เป็นความจริง เนื่องจากไอบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกสูดเข้าสู่ร่างกายนั้นประกอบด้วยสารนิโคตินซึ่งมีฤทธ์ทำให้เกิดการเสพติด ผู้สูบจึงติดบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่

5. การสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้จริงหรือไม่

การศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานพอจะชี้ชัดได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้ และงานวิจัยบางชนิดยังเผยอีกว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อนมีแนวโน้มโอกาสสูบบุหรี่ธรรมดาและสารเสพติดอื่น ๆ มากขึ้น 

หากต้องการเลิกบุหรี่ อาจลองทำตามวิธีการเลิกบุหรี่ที่แพทย์แนะนำซึ่งจะเน้นไปที่การบำบัดอย่างถูกวิธีหรือการใช้ยาเลิกบุหรี่แทน     

6. ไอน้ำมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายจริงหรือไม่

ไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นอันตรายต่อทั้งผู้สูบและผู้ที่อยู่รอบข้างที่สูดไอน้ำเข้าไป เนื่องจากไอน้ำอาจมีส่วนประกอบของสารนิโคตินและสารพิษอื่น ๆ จึงอาจทำให้ผู้ที่สูดไอน้ำทางอ้อมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้เช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง

จะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจส่งผลเสียไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ดังนั้น ไม่ว่านักสูบจะเลือกสูบบุหรี่ชนิดใดก็เป็นการทำร้ายสุขภาพทั้งสิ้น ผู้ที่กำลังลังเลหรือสนใจหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงความเสี่ยงที่ขัดต่อข้อกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เสียทั้งสุขภาพและทรัพย์สินได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักสูบที่ต้องการเลิกบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ควรไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการบำบัดหรือเลิกบุหรี่อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยสิ่งสำคัญคือ กำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่จะเป็นแรงผลักดันให้การเลิกบุหรี่นั้นสำเร็จได้ด้วยดี