ยาภูมิแพ้อากาศจะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล คันคอ ไอ จาม เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล และผื่นคันที่ขึ้นตามร่างกาย โดยยาภูมิแพ้อากาศมีหลายประเภท เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก สเปรย์พ่นจมูก และยาฉีด แต่ละตัวยามีกลไกการรักษาต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงที่ผู้ป่วยเป็น
ภูมิแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองต่อสารบางอย่างผิดปกติ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ มลภาวะ เชื้อรา และสะเก็ดผิวหนังสัตว์ ทำให้เกิดการอักเสบภายในระบบทางเดินหายใจ การใช้ยาภูมิแพ้อากาศควบคู่กับการดูแลตัวเองจะช่วยให้อาการทุเลาลง และใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
ยาภูมิแพ้อากาศที่ควรรู้จัก
ยาภูมิแพ้อากาศที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีดังนี้
1. ยาแก้แพ้ (Antihistamines)
ยาต้านฮิสตามีน หรือที่รู้จักกันในชื่อยาแก้แพ้ เป็นยาภูมิแพ้อากาศที่ออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งร่างกายจะผลิตออกมาเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น คัดจมูก จาม คันคอ และคันผิวหนัง ซึ่งยาแก้แพ้จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้
ยาแก้แพ้มีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ ยาพ่นจมูก และยาหยอดตา โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
- ยาเซทิริซีน (Cetirizine)
- ยาเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine)
- ยาลอราทาดีน (Loratadine)
- ยาเดสลอราทาดีน (Desloratadine)
- ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)
การรับประทานยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร หรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาบนฉลาก ผู้ที่ใช้ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงนอนควรหลีกเลี่ยงการขับขี่รถและการทำงานกับเครื่องจักร รวมทั้งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากใช้ยากลุ่มนี้ เพราะอาจยิ่งทำให้ง่วงซึมมากขึ้น
2. ยาลดน้ำมูก (Decongestants)
ยาลดน้ำมูกจะช่วยให้เนื้อเยื่อและหลอดเลือดในโพรงจมูกยุบตัวลง จึงช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากการมีน้ำมูกคั่งในโพรงจมูกและไซนัส และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายเคยชินและติดการใช้ยา ส่งผลให้อาการภูมิแพ้อากาศแย่ลง
ยาลดน้ำมูกอาจเป็นยาชนิดเดี่ยว เช่น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) (ยาออกซี่เมตาโซลีน Oxymetazoline) และยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) หรือยาที่มีส่วนประกอบของยาแก้แพ้และยาลดน้ำมูกในเม็ดเดียวกัน เช่น ยาเซทิริซีนและยาซูโดเอฟีดรีน ซึ่งยาภูมิแพ้อากาศที่ประกอบด้วยยาซูโดเอฟีดรีนเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรควิตกกังวล และโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้
3. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกที่มีตัวยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาภูมิแพ้อากาศที่ช่วยลดการอักเสบ และกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน มีทั้งยาที่หาซื้อได้เองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย เช่น ยาฟลูติคาโซน (Fluticasone) ยาเบโคลเมทาโซน (Beclomethasone) และยาโมเมทาโซน (Mometasone)
ผู้ป่วยควรใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกทุกวันต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1–2 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์สั่ง เพื่อช่วยควบคุมอาการภูมิแพ้อากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คันและแสบจมูก รู้สึกขมในปาก ปวดศีรษะ และเลือดกำเดาไหล หากมีอาการแพ้ยาหรือมีเลือดออกทางจมูกอย่างรุนแรง ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์
4. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานเป็นยาภูมิแพ้อากาศที่ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ตัวยาที่ใช้อาจได้แก่ ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งจะสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ใช้ยานี้เป็นเวลานาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้อกระจก และโรคกระดูกพรุน
5. ยาต้านลิวโคไตรอีน (Leukotriene Inhibitor)
ลิวโคไตรอีนเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุจมูกบวม คัดจมูก และน้ำมูกไหล ยาภูมิแพ้อากาศในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้รักษาอาการคือยามอนเทลูคาสท์ (Montelukast)
ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจเกิดความผิดปกติทางจิตและประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน ฝันชัดเจน (Vivid Dream) และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อไม่ได้ จึงไม่ใช่ยาภูมิแพ้อากาศตัวเลือกแรก ๆ ที่ใช้ในการรักษา แพทย์จะสั่งจ่ายให้ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีโรคหืดร่วมด้วย
6. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
ยาภูมิแพ้อากาศอีกชนิดหนึ่งที่ใช้คือยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือการฉีดวีคซีนภูมิแพ้ จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยเกิดภูมิคุ้มกันต่อสารที่แพ้ และเกิดอาการแพ้น้อยลง โดยอาจฉีดวัคซีนภูมิแพ้ควบคู่กับการใช้ยาภูมิแพ้อากาศตัวอื่น ๆ
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ต้องใช้ระยะเวลาและความต่อเนื่องในการเข้ารับการรักษา ในช่วง 3–6 เดือนแรก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนภูมิแพ้สัปดาห์ละ 1–3 ครั้ง จากนั้นจะลดความถี่ในการฉีด โดยให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนทุก 2–4 สัปดาห์ต่อเนื่องกันไปอีก 3–5 ปี จนกว่าร่างกายจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้น้อยลง และอาการดีขึ้นแม้จะหยุดให้ยาแล้ว
ยาภูมิคุ้มกันบำบัดอีกประเภทหนึ่งคือยาเม็ดอมใต้ลิ้น ซึ่งต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้การรักษาอาการภูมิแพ้อากาศมีประสิทธิภาพ
นอกจากยาภูมิแพ้อากาศ 6 กลุ่มข้างต้น อาจมียาอื่นที่ช่วยรักษาอาการภูมิแพ้อากาศ เช่น ยาหยอดตาที่มีตัวยาโครโมไกลเซท (Cromoglycate) โดยใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ เพื่อช่วยลดอาการบวมและคันตา
ภูมิแพ้อากาศเป็นโรคที่ต้องดูแลรักษาในระยะยาว ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ทำความสะอาดบ้านและเครื่องนอนเป็นประจำ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อชะล้างสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก และใช้ยาภูมิแพ้อากาศตามที่แพทย์สั่ง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน