ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนัง เป็นยาที่ออกฤทธิ์กำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาและมักมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น สเปรย์ ยาเม็ดสำหรับรับประทาน หรือครีมยาสำหรับทาภายนอก
เชื้อราที่ผิวหนังเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน สังคัง โรคน้ำกัดเท้า โดยเชื้อราที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคันและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การใช้ยารักษากลากเกลื้อนที่มีประสิทธิภาพดีอาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่ใช้แล้วเห็นผลดีและมีประสิทธิภาพ
ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังหลากหลายยี่ห้ออาจช่วยรักษาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ โดยยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่มีประสิทธิภาพดี มีดังนี้
1. ฟังจิน็อกซ์ โซลูชัน (Funginox Solution) ขนาด 25 มิลลิลิตร
ฟังจิน็อกซ์ โซลูชันเป็นยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่มีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล 2% (Ketoconazole) ซึ่งคีโตโคนาโซลเป็นยาที่ช่วยกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ดังนั้น การใช้ยาฟังจิน็อกซ์ โซลูชันที่มีตัวยาคีโตโคนาโซล จึงอาจช่วยรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังต่าง ๆ เช่น กลาก เกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า โรคสังคัง รวมถึงรังแคจากเชื้อราบนหนังศีรษะ
ฟังจิน็อกซ์ โซลูชัน อยู่ในรูปแบบของสเปรย์ จึงทำให้ใช้งานง่าย สะดวก และแห้งไว โดยการใช้ยาฟังจิน็อกซ์ โซลูชัน เพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังอาจแตกต่างกันไป เช่น การใช้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน สามารถฉีดพ่นยาลงบนบริเวณที่มีอาการวันละ 1–2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ หากใช้รักษารังแคจากเชื้อราบนหนังศีรษะ ควรฉีดพ่นบริเวณที่มีอาการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์
ถึงแม้ว้าอาการเชื้อราบนผิวหนังจะดีขึ้นแล้ว แต่ยังควรใช้ยาต่ออีก 3 วัน เพื่อเป็นการรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังให้หายขาดและป้องกันไม่ให้การติดเชื้อกลับมาเป็นซ้ำ
2. สปอร์นาร์ (Spornar) บรรจุแผงละ 4 แคปซูล
ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังตราสปอร์นาร์ เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 100 มิลลิกรัม โดยยาไอทราโคนาโซลจะช่วยรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังที่มีอาการรุนแรง รวมไปถึงโรคเชื้อราอื่น ๆ เช่น เชื้อราในช่องปาก เชื้อราที่เล็บ
การใช้ยาสปอร์นาร์เพื่อรักษาเชื้อราที่ผิวหนังอาจแตกต่างกันไปตามโรคเชื้อราที่เป็นสาเหตุ เช่น การใช้ยาสปอร์นาร์สำหรับรักษาโรคกลาก ควรรับประทานยาวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันนาน 15 วัน การใช้ยาสปอร์นาร์สำหรับรักษาโรคน้ำกัดเท้า ควรรับประทานยาวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันนาน 30 วัน หรืออาจรับประทานยานี้ตามปริมาณที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ
โดยควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อให้ร่างกายดูดซึมยาได้สูงสุด ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
3. คาเนสเทน โอ.ดี. (Canesten O.D.) ขนาด 10 กรัม
ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังตราคาเนสเทน โอ.ดี. เป็นครีมยาที่มีส่วนประกอบของยาไบโฟนาโซล (Bifonazole) ปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อ 1 กรัม โดยยาไบโฟนาโซลเป็นยาที่ช่วยฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราที่ผิวหนังต่าง ๆ เช่น กลาก เกลื้อน และโรคเชื้อราอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยลดอาการคันจากเชื้อราอีกด้วย
โดยทายาคาเนสเทน โอ.ดี. ลงบนผิวหนังที่มีอาการวันละ 1 ครั้งก่อนนอน และควรทายาติดต่อกันนาน 2–3 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าเชื้อราบนผิวหนังจะหายเป็นปกติแล้ว
4. โทนาฟ 1% (Tonaf 1%) ขนาด 15 กรัม
โทนาฟเป็นยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่มีส่วนประกอบของยาโทลนาฟเทต 1% (Tolnaftate) โดยครีมโทนาฟอาจช่วยบรรเทาอาการโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง น้ำกัดเท้า
การใช้โทนาฟเพื่อรักษาเชื้อราที่ผิวหนังสามารถทำได้โดยการทายาวันละ 2 ครั้งบริเวณที่เป็นเชื้อราอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยานี้นานติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
5. ซีม่า ครีม (Zema Cream) ขนาด 10 กรัม
ซีม่า ครีมเป็นยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่มีส่วนผสมของโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) 0.01 กรัม ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคน้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน เชื้อราที่เล็บ โดยซีม่า ครีมจะช่วยกำจัดเชื้อราและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
วิธีการใช้ซีม่า ครีมเพื่อรักษากลากเกลื้อนสามารถทำได้โดยการทาครีมบาง ๆ บริเวณที่มีอาการวันละ 2–3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 3–4 สัปดาห์ โดยควรทำความสะอาดผิวหนังและเช็ดให้แห้งทุกครั้งก่อนทายา
6. ทราโวคอร์ต (Travocort) ขนาด 10 กรัม
ทราโวคอร์ตเป็นครีมยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคเชื้อราที่ผิวหนังและมีอาการผิวอักเสบรุนแรง เช่น คันอย่างรุนแรง แดง แสบ หรือเจ็บปวดบริเวณที่มีอาการ โดยยาทราโวคอร์ตมีส่วนผสมของยาไอโซโคนาโซล (Isoconazole) ที่ช่วยต้านเชื้อราอยู่ในปริมาณ 1% และมียาไดฟลูคอร์โตโลน (Diflucortolone) ซึ่งเป็นตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังอยู่ในปริมาณ 0.1%
ผู้ที่มีโรคเชื้อราที่ผิวหนังร่วมกับอาการอักเสบสามารถทายาทราโวคอร์ตลงบนบริเวณที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ทราโวคอร์ตเป็นยาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือควรหยุดใช้ทันทีเมื่ออาการอักเสบดีขึ้นแล้ว โดยหลังจากที่อาการดีขึ้น อาจใช้ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังที่มีตัวยาต้านเชื้อราอื่น ๆ ต่อ เช่น ยาที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล เพื่อรักษากลากเกลื้อนให้หายขาด
นอกจากการใช้ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังเพื่อช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น ล้างมือทั้งก่อนและหลังจากการสัมผัสบริเวณที่มีอาการเพื่อความสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รักษาบริเวณที่เป็นเชื้อราให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปและระบายอากาศได้ดี
หลังจากการใช้ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนัง หากอาการเชื้อราที่ผิวหนังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ผื่นมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 20 กันยายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD