ยาแก้ปวดไมเกรน คือยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรน ซึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น อาการปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยยาแก้ปวดไมเกรนมีทั้งยาที่ช่วยแก้อาการปวดทั่วไป และยาสำหรับแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละตัวจะมีประสิทธิภาพที่ต่างกันไป
ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่อาจเกิดจากพันธุกรรม ฮอร์โมน หรือการขยายตัวของหลอดเลือดในสมอง โดยนอกจากอาการปวดหัวแล้วยังอาจทำให้อ่อนไหวต่อแสงหรือเสียงรบกวน มึนหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ไปจนถึงคลื่นไส้อาเจียนได้ อาการปวดไมเกรนเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่อาจช่วยให้ผู้ที่ปวดหัวจากไมเกรนใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น
ยาแก้ปวดไมเกรน ตัวช่วยบรรเทาอาการปวดและวิธีใช้ให้ปลอดภัย
ยาแก้ปวดไมเกรนที่ช่วยลดอาการปวดหัวได้ดีและหาซื้อได้ง่ายมีดังนี้
1. โกเฟน 400 (Gofen 400) แผงละ 10 แคปซูล
โกเฟนเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลายชนิด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดหัวจากไข้หวัด และปวดหัวไมเกรน ตัวยาเป็นแคปซูลนิ่มสีเขียวใส ทรงเรียวยาว ใน 1 เม็ดประกอบไปด้วยตัวยาไอบูโพรเฟน (Ibuprophen) 400 มิลลิกรัม โดยโกเฟนเป็นยาแก้ปวดกลุ่มเอ็ดเสด (NSAIDs) หรือยาแก้อาการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี สามารถรับประทานยาโกเฟนได้เมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรน โดยรับประทานครั้งละ 1 แคปซูล ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 3 แคปซูลต่อวัน
ยาแก้ปวดโกเฟนอาจมีผลข้างเคียงทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้เมื่อรับประทานยา ซึ่งสามารถลดอาการได้ด้วยการรับประทานยาพร้อมอาหารหรือนม
2. บรูซอฟท์ 400 (Brusoft 400) แผงละ 10 แคปซูล
บรูซอฟท์เป็นยาแก้ปวดชนิดแคปซูล ลักษณะเม็ดยาเป็นรูปไข่สีเหลืองอ่อน มีเปลือกหุ้มเป็นเจลาตินซึ่งมีความอ่อนนุ่ม ยาบรูซอฟท์ 1 เม็ดประกอบด้วยยาไอบูโพรเฟน (Ibuprophen) 400 มิลลิกรัม ที่ไอบูโพรเฟนมีฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดไมเกรน รวมถึงอาการปวดอื่น ๆ เช่น ปวดฟัน ปวดข้อ และปวดประจำเดือน
ผู้ใหญ่สามารถรับประทานยาตัวนี้ได้เมื่อปวดไมเกรน โดยควรรับประทานครั้งละ 1 แคปซูลต่อวัน และควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อป้องกันการปวดท้อง เนื่องจากโกเฟนเป็นยาแคปซูลที่ออกฤทธิ์ไว จึงอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้มากกว่ายาเม็ดที่ออกฤทธิ์ช้า
3. คาเฟอร์กอต (Cafergot) แผงละ 10 เม็ด
ยาแก้ปวดไมเกรนคาเฟอร์กอตเป็นยาที่มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดหัวได้ดี เนื่องจากใน 1 เม็ดมีส่วนประกอบของเออร์โกทามีน (Ergotamine) 1 มิลลิกรัม ซึ่งตัวยาออร์โกทามีนจะช่วยให้หลอดเลือดสมองหดตัวลง และมีคาเฟอีน (Caffeine) 100 มิลลิกรัม ซึ่งคาเฟอีนจะช่วยให้ยาซึมซับเข้าสู่ร่างกายได้ไวขึ้น
ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีสามารถรับประทานคาเฟอร์กอตเพื่อบรรเทาอาการปวดเกรนได้ โดยรับประทาน 2 เม็ดเมื่อเกิดอาการ และรับประทานเพิ่ม 1 เม็ดได้ทุกครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่หายไป โดยไม่ควรเกิน 6 เม็ดต่อวัน และหากรับประทานครบ 6 เม็ดในหนึ่งวันควรหยุดยาอย่างน้อย 4 วัน
4. โทฟาโก้ (Tofago) แผงละ 10 เม็ด
โทฟาโก้เป็นยาแก้ปวดไมเกรนที่มีส่วนประกอบของเออร์โกทามีน (Ergotamine) 1 มิลลิกรัม และคาเฟอีน (Caffeine) 100 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวตื้อ เนื่องจากยาเข้าไปลดการขยายตัวของหลอดเลือดสมองที่ทำงานผิดปกติได้
ยาโทฟาโก้สามารถรับประทานได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยควรรับประทานเมื่อไมเกรนกำเริบ 2 เม็ด และหากยังมีอาการอยู่สามารถรับประทานเพิ่มได้อีก 1 เม็ด หลังผ่านไปครึ่งชั่วโมงแต่ไม่ควรรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวันและ 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ หากรับประทานต่อเนื่อง 6 เม็ดใน 1 วันแล้วควรหยุดยาอย่างน้อย 4 วัน
5. อาวาไมเกรน (Avamigran) แผงละ 10 เม็ด
อาวาไมเกรนเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการไมเกรนเฉียบพลันได้ โดยยาอาวาไมเกรนมีส่วนผสมของยา 2 ชนิด ได้แก่ เออร์โกทามีน (Ergotamine) 1 มิลลิกรัม และคาเฟอีน (Caffeine) 100 มิลลิกรัมต่อเม็ด ซึ่งช่วยในการหดตัวของหลอดเลือดสมอง และทำให้อาการปวดหัวค่อย ๆ หายไปในที่สุด
ยานี้สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี เมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรนรับประทาน 2 เม็ดทันที และหากเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่หาย สามารถรับประทานเพิ่มได้อีก 1 เม็ด แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และ 10 เม็ดต่อสัปดาห์ นอกจากนี้หากรับประทานยามาแล้ว 6 เม็ดใน 1 วันควรหยุดใช้ยาอย่างน้อย 4 วันเช่นเดียวกัน
การรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนให้เป็นผลดีต่อสุขภาพควรอ่านวิธีใช้และคำเตือนบนฉลากยาหรือรับระทานตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ โดยนอกจากการรับประทานยาแก้ปวดอาจทำสิ่งอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการไมเกรน เช่น พักผ่อนให้เพียงพอในห้องที่ไม่มีสิ่งรบกวน เช่น แสงจ้าหรือเสียงดัง ดื่มน้ำให้เพียงพอ นวดคอ หน้าผาก ศีรษะด้วยตนเองเพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และผู้ให้นมบุตร ควรตรวจการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยจากฉลากยาหรือสอบถามกับเภสัชกรก่อนใช้ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาแก้ปวดไมเกรนต่อเนื่องเป็นเวลานาน และหากอาหารปวดหัวแย่ลงนานกว่าสามวัน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม