6 วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอดที่ได้ผล

วิธีการรักษาอาการแสบช่องคลอด คือแนวทางในการบรรเทาความรู้สึกแสบบริเวณช่องคลอดที่อาจเกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ๆ ส่วนใหญ่การรักษาอาการแสบช่องคลอดทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ การใช้ของภายในบ้านในการบรรเทาอาการ การใช้ยาบางชนิด รวมถึงรักษาสมดุลภายในช่องคลอด

อาการแสบช่องคลอด คือความรู้สึกแสบร้อน แสบคันบริเวณช่องคลอดได้แก่ บริเวณแคมนอกและแคมใน คลิตอริส และปากช่องคลอด อาการแสบบริเวณช่องคลอดอาจหายได้เอง หรืออาจแย่ลงขณะปัสสาวะ หรือถูกสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์

Treat Vaginal Burning

1. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดอาการ

หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับบริเวณช่องคลอดโดยตรง เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจทำให้บริเวณข่องคลอดระคายเคือง เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด ถุงยาง ครีม สเปรย์ ที่ใช้ใกล้บริเวณช่องคลอด อาจเริ่มจากการลองหยุดใช้ทีละผลิตภัณฑ์เพื่อดูว่าอาการแสบดีขึ้นหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการแสบบริเวณช่องคลอดได้แม้จะไม่ได้ใช้กับบริเวณช่องคลอดโดยตรง เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่ส่งผลระคายเคืองต่อช่องคลอดอย่างผงซักฟอก สบู่

อาการแสบช่องคลอดมักจะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ระยะแรก ดังนั้น หากใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วมีอาการแสบหรือคันบริเวณช่องคลอด ควรหยุดใช้ทันที

2. หลีกเลี่ยงการสวมเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นเกินไป

การระคายเคืองผิวบริเวณช่องคลอดอาจเกิดจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นร่างกายมากเกินไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใส่ถุงน่อง กางเกง และกางเกงชั้นในที่รัดแน่น และอาจปรับเปลี่ยนเป็นการการสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบาย ไม่รัดผิวแทน

3. รับประทานยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ

หากสงสัยว่าอาการแสบบริเวณช่องคลอดเกิดจากการติดเชื้อ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเนื่องจากมีหลายสาเหตุที่เป็นไปได้ การตรวจวินิจฉัยจะทำให้รู้ว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใดหรือโรคใด เพื่อที่แพทย์จะสามารถสั่งยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมกับอาการและสาเหตุ โดยควรรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าจะไม่มีอาการแสบแล้วก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเดิมซ้ำ

4. รับประทานกรีกโยเกิร์ต หรืออาหารที่มีโพรไบโอติก 

โยเกิร์ตประกอบไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส ซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อราในช่องคลอดและยังช่วยรักษาสมดุลในช่องคลอดได้ นอกจากนี้การทานโยเกิร์ตยังช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งมีส่วนช่วยลดเชื้อราในร่างกาย โดยแนะนำให้เลือกทานกรีกโยเกิร์ตเนื่องจากดีต่อสุขภาพกว่าโยเกิร์ตธรรมดา และนอกจากโยเกิร์ตแล้วก็ยังอาหารอื่น ๆ ที่มีโพรไบโอติกอีกเช่น ชาหมัก ผักดอง และซุปมิโซะ 

5. ใช้ยาทาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

ยาทาชนิดครีมสำหรับบรรเทาอาการแสบบริเวณช่องคลอดที่สามารถหาซื้อเองได้มีหลายรูปแบบ และบางชนิดอาจต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ผู้มีอาการแสบบริเวณช่องคลอดควรเลือกใช้ครีมตามสาเหตุของอาการ เช่น

ผู้ที่ใช้ยาทาช่องคลอดเพื่อรักษาอาการแสบด้วยตัวเองควรอ่านฉลากให้ครบถ้วนก่อนใช้ยา ควรใช้ติดต่อกันทุกวันจนครบตามที่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ระหว่างใช้ครีมควรงดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ยาฆ่าเชื้ออสุจิและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ กับช่องคลอด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนในการใช้ยา และหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หรือมีอาการต่อเนื่องเกิน 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์

6. ใช้ยาเหน็บหรือยาสอดช่องคลอด

วิธีการรักษาอาการแสบช่องคลอดที่เกิดจากการติดเชื้อราทำได้ด้วยการใช้ยาเหน็บช่องคลอดกรดบอริกหรือไมโคนาโซล ควรทำตามวิธีการใช้ยาบนฉลากอย่างเคร่งครัด ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้ยา โดยส่วนใหญ่ควรใช้ยาในเวลาก่อนนอนหรือตามคำแนะนำของแพทย์ และไม่ควรหยุดใช้ยาเอง

อาการแสบบริเวณช่องคลอดบางกรณีอาจหายได้เอง โดยผู้ที่เคยมีอาการสามารถรักษาสมดุลในช่องคลอดเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ บริโภคน้ำตาลน้อยลง มีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน และจัดการกับความเครียด อย่างไรก็ตามหากอาการไม่ดีขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการร่วมอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์