ลักษณะของอุจจาระสามารถบ่งบอกได้ถึงสภาวะสุขภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสุขภาพลำไส้และการขับถ่าย หากใครกำลังพบปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายและอุจจาระมีลักษณะที่เปลี่ยนไป บทความนี้อาจช่วยหาสาเหตุเบื้องต้นได้
ลักษณะอุจจาระพบได้หลายรูปทรง และลักษณะของผิวอุจจาระอาจแตกต่างกันไป ซึ่งลักษณะที่เปลี่ยนไปอาจเป็นสัญญาณของสุขภาพการขับถ่ายที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ อย่างอาการปวดท้อง เวียนหัว และอ่อนเพลีย
ลักษณะอุจจาระกับสุขภาพ
โดยทั่วไปอาจแบ่งลักษณะอุจจาระออกเป็น 7 แบบด้วยกัน
1. อุจจาระแข็งและเป็นเม็ด
อุจจาระที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง แห้ง และขับออกมาเป็นเม็ดหลาย ๆ เม็ด เป็นสัญญาณของโรคท้องผูกที่ค่อนข้างรุนแรง โดยอาจพบร่วมกับอาการปวดท้อง ขับถ่ายยาก ถ่ายไม่สุด และรู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย
หากมีอาการท้องผูกรุนแรงและพบเลือดปนมากับอุจจาระ หรือถ่ายในลักษณะนี้สลับกับถ่ายเหลวติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้ที่รุนแรงได้
2. อุจจาระแข็งเป็นเม็ดและติดกันเป็นก้อนยาว
ลักษณะอุจจาระที่ยาว แข็ง แห้ง ผิวขรุขระ เป็นเม็ดคล้ายกับชนิดแรกแต่อยู่ติดกันเป็นก้อน จัดเป็นอาการของโรคท้องผูกเช่นกัน แต่ระดับความรุนแรงน้อยกว่าอุจจาระแบบแรก ส่วนอาการอื่นที่พบก็มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งสาเหตุก็มาจากการขาดสารอาหารประเภทไฟเบอร์ การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่วมกับพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดี อายุที่เพิ่มมากขึ้น และปัจจัยอื่น ๆ
3. อุจจาระก้อนยาวผิวมีรอยแตก
อุจจาระลักษณะนี้หมายถึงการมีสุขภาพการขับถ่ายที่ดี สังเกตได้จากอุจจาระที่จับตัวกันก้อนนิ่ม ผิวของอุจจาระมีรอยแตกเล็กน้อย และขับถ่ายได้ง่าย
4. อุจจาระก้อนยาวผิวเรียบ
ลักษณะอุจจาระในรูปแบบนี้สื่อถึงการมีสุขภาพการขับถ่ายที่ดีเช่นเดียวกัน ดูจากภายนอกจะเห็นว่าอุจจาระมีผิวเรียบ นิ่ม ขับถ่ายได้ง่าย ส่วนปลายอุจจาระจะมีลักษณะเรียวยาวคล้ายกับหางงู
5. อุจจาระเป็นแผ่น ไม่จับตัวกัน
หากพบอุจจาระลักษณะเป็นแผ่นขนาดเล็ก ไม่จับตัวกัน และขับถ่ายออกมาได้ง่ายอาจเป็นสัญญาณของการขาดไฟเบอร์หรืออาจเป็นสัญญาณของอาการท้องร่วงแบบไม่รุนแรงก็ได้เช่นกัน แม้ว่าลักษณะอุจจาระแบบนี้จะขับถ่ายออกมาได้ง่าย แต่ก็ยังไม่จัดอยู่ในระดับการขับถ่ายที่ดี
6. อุจจาระกึ่งเหลว
ลักษณะอุจจาระแบบกึ่งเหลว มีลักษณะคล้ายกับการอุจจาระเป็นก้อน หากสังเกตจะเห็นว่ามีความนิ่มและเหลวกว่ามาก แต่ไม่ถึงขั้นเหลวเป็นน้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อและการอักเสบภายในลำไส้ที่อาจเกิดจากโรคอาหารเป็นพิษ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารรสจัด ซึ่งคนที่มีอุจจาระลักษณะนี้อาจมีอาการถ่ายบ่อยและปวดท้อง
7. อุจจาระเหลว
อุจจาระเหลวคือการขับถ่ายออกมาเป็นของเหลวทั้งหมด หรือมีอาการท้องเสีย ซึ่งมีสาเหตุเดียวกันกับอุจจาระแบบกึ่งเหลว เพียงแต่เป็นอาการท้องร่วงที่รุนแรงกว่า คนที่ขับถ่ายออกมาในลักษณะนี้จะขับถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน และอาจพบอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 2‒3 วัน
หากพบลักษณะอุจจาระในแบบที่ 6 และแบบที่ 7 และพบกับภาวะขาดน้ำ ปากแห้ง อ่อนเพลีย เวียนหัว ปวดท้องรุนแรง หน้าท้องเกิดรอยแดง เป็นไข้สูง อุจจาระปนเลือด หรือน้ำหนักลด ควรไปพบแพทย์
วิธีดูแลลำไส้และการขับถ่ายให้สุขภาพดี
หากใครอยากมีลักษณะอุจจาระที่อยู่เกณฑ์สุขภาพดี วิธีต่อไปนี้ช่วยได้
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
คนแต่ละช่วงวัยมีปริมาณของเหลวที่ควรได้รับต่อวันแตกต่างกัน ซึ่งควรศึกษาปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมและหมั่นจิบน้ำตลอดวัน เพราะของเหลวมีส่วนช่วยในการทำงานของลำไส้ตั้งแต่ระบบย่อยอาหารไปจนถึงระบบขับถ่าย ช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับออกได้ง่าย และยังช่วยชดเชยน้ำในร่างกายที่สูญเสียกับอาการท้องร่วงได้ด้วย
กินผักผลไม้ให้มากขึ้น
ผักผลไม้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ซึ่งไฟเบอร์ส่งผลดีต่อลำไส้และการขับถ่าย ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายและบรรเทาอาการท้องผูก นอกจากนี้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนยังชี้ว่าการได้รับไฟเบอร์ในปริมาณเหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งลำไส้ได้ แต่ข้อมูลส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานได้เป็นปกติ รวมถึงกระตุ้นการทำงานของลำไส้จึงช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติและช่วยให้มีลักษณะอุจจาระที่อยู่ในสุขภาพดีได้
วิธีสังเกตลักษณะอุจจาระเพิ่มเติม
นอกจากการสังเกตลักษณะอุจจาระแล้ว การสังเกตสีของอุจจาระก็อาจสื่อถึงสัญญาณสุขภาพได้เช่นกัน
- อุจจาระสีน้ำตาล ไม่ว่าจะน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ถือเป็นสีปกติของอุจจาระ
- อุจจาระสีเขียวอ่อนเป็นลักษณะของอุจจาระทั่วไป หากอุจจาระสีเขียวเข้มอาจมาจากอุจจาระนั้นถูกขับออกมาเร็วเกินไป
- อุจจาระสีเหลืองพบได้ทั่วไป หรือมาจากกินอาหารไขมันสูง ปัญหาการดูดซึม ปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดี และโรคเซลิแอค (Celiac Disease)
- อุจจาระสีดำอาจมาจากการกินอาหารเสริมธาตุเหล็ก การใช้ยาบางชนิด และอาจหมายถึงการมีเลือดออกในลำไส้ส่วนบน ดังนั้น หากไม่ได้ใช้อาหารเสริมหรือยาแล้วพบอุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย ร่วมกับมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์
- อุจจาระสีซีดหรือสีขาวเกิดจากภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
- อุจจาระสีแดงจากเลือดปน เป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวารและการมีเลือดออกภายใน ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สีและลักษณะอุจจาระเป็นเพียงการประเมินสาเหตุเบื้องต้นเท่านั้น หากพบอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรครุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด