เมื่อเกิดอาการสะอึก หลายคนคงนึกถึงวิธีทำให้หายสะอึกแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนกลั้นหายใจ บางคนดื่มน้ำ หรือบางคนพยายามทำให้ตัวเองตกใจ ถึงแม้ว่าอาการสะอึกโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างชั่วคราวและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่กี่นาที แต่หากคุณรู้เคล็ดลับที่สามารถทำให้หายสะอึกได้อย่างง่าย ๆ ก็ไม่ต้องทรมานเมื่อเกิดอาการสะอึกอีกต่อไป
อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวอย่างกะทันหันของกล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ทำให้กล่องเสียงปิดลงอย่างฉับพลัน และส่งผลให้ลมที่หายใจเข้าอย่างรวดเร็วเกิดเป็นเสียงสะอึกตามมา โดยทั่วไป อาการสะอึกไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการสะอึกต่อเนื่องนานกว่า 48 ชั่วโมง หรือเกิดอาการสะอึกบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้
7 วิธีทำให้หายสะอึกง่าย ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้
วิธีทำให้หายสะอึกมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย อย่างไรตาม แต่ละวิธีอาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน โดยวิธีแก้อาการสะอึกที่แนะนำให้ลองนำมาใช้มี 7 วิธี ดังนี้
1. การกลั้นหายใจ
เมื่อเกิดอาการสะอึก ให้ลองกลั้นหายใจไว้ประมาณ 10–20 วินาที จากนั้นกลืนน้ำลายประมาณ 3 ครั้ง อาจช่วยให้หายสะอึกได้ หรืออาจลองกลั้นหายใจโดยบีบจมูกพร้อมกับปิดปากเอาไว้ จากนั้นพยายามหายใจออกมาแรง ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงดันในจมูกและหูเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท และอาจช่วยให้หายสะอึกได้
2. การหายใจใส่ถุงกระดาษ
การหายใจใส่ถุงกระดาษจะเป็นการเพิ่มระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด และอาจช่วยให้หายจากอาการสะอึกได้ โดยมีวิธีการคือนำถุงกระดาษมาครอบบริเวณปากและจมูก จากนั้นหายใจเข้า กลั้นหายใจสักพัก และหายใจออกช้า ๆ ภายในถุงกระดาษ ทำซ้ำทุกขั้นตอนประมาณ 1 นาที
แต่วิธีนี้ไม่ควรใช้ถุงพลาสติกแทน เพราะถุงพลาสติกอาจแนบสนิทกับใบหน้าเกินไป จนทำให้ไม่มีอากาศเข้า และขาดอากาศหายใจได้ และควรระมัดระวังไม่ครอบถุงกระดาษคลุมทั้งศีรษะ
3. การดื่มน้ำ
การดื่มน้ำเป็นวิธีที่หลายคนนึกถึงเมื่อเกิดอาการสะอึกขึ้น โดยปกติหลายคนมักจะดื่มน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อแก้อาการสะอึก แต่หากลองดื่มน้ำเย็นที่ใส่น้ำแข็งโดยใช้วิธีการจิบน้ำอย่างช้า ๆ ก็จะเป็นการกระตุ้นเส้นประสาท และอาจช่วยแก้อาการสะอึกได้ นอกจากนี้ การกลั้วคอด้วยน้ำเปล่าก็เป็นวิธีทำให้หายสะอึกอีกวิธีหนึ่งที่คุณอาจนึกไม่ถึงด้วยเช่นกัน
4. การกลืนน้ำแข็ง
เมื่อเกิดอาการสะอึก อาจลองอมน้ำแข็งเอาไว้ในปากประมาณ 2–3 นาที เพื่อรอให้น้ำแข็งละลาย จากนั้นกลืนน้ำแข็งลงไปเมื่อน้ำแข็งมีขนาดเล็กจนสามารถกลืนได้ วิธีการนี้จะเป็นการกระตุ้นเส้นประสาท และอาจช่วยให้อาการสะอึกหายไปได้ นอกจากน้ำแข็งแล้ว การรับประทานไอศกรีมหรือเครื่องดื่มเย็นอื่น ๆ ก็อาจช่วยแก้อาการสะอึกได้เช่นกัน
5. การดึงลิ้น
การดึงลิ้นจะช่วยกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อภายในลำคอ จึงอาจทำให้อาการสะอึกหายไปได้ โดยมีวิธีการคือใช้มือจับปลายลิ้นและค่อย ๆ ดึงลิ้นลงหรือดึงลิ้นไปข้างหน้าประมาณ 1–2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสลิ้น
6. การกัดมะนาวฝาน
การกัดหรือการอมมะนาวฝานเป็นวิธีทำให้หายสะอึกอีกวิธีหนึ่งที่หลายคนคงนึกไม่ถึง โดยอาจนำมะนาวฝานมาจิ้มกับเกลือหรือน้ำตาลก่อนเล็กน้อย เพื่อช่วยลดความเปรี้ยวแล้วจึงค่อยกัดหรืออมมะนาวฝานเอาไว้ เพราะอาหารรสเปรี้ยวจะช่วยกระตุ้นเส้นประสาท และอาจทำให้หายสะอึกได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ควรบ้วนปากหลังจากการกัดหรืออมมะนาวฝาน เพื่อป้องกันไม่ให้กรดซิตริกกัดกร่อนฟัน
7. การทำท่ากอดเข่าชิดอก
การทำท่ากอดเข้าชิดอกเป็นวิธีทำให้หายสะอึกที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง โดยมีวิธีการคือนั่งหรือนอนในท่าที่สบาย จากนั้นชันเข่าหรือยกเข่าขึ้นมาไว้บริเวณหน้าอก โน้มตัวไปข้างหน้า และใช้มือรวบเข่าเข้ามากอดชิดหน้าอกให้แน่นประมาณ 1 นาที วิธีการนี้จะทำให้เกิดแรงกดบริเวณกะบังลม เมื่อกะบังลมหยุดการหดตัว ก็จะทำให้อาการสะอึกหยุดลงไปด้วยนั่นเอง
นอกจากวิธีทำให้หายสะอึกแล้ว ยังมีวิธีที่อาจช่วยป้องกันอาการสะอึกได้ นั่นก็คือการรับประทานอาหารช้า ๆ เน้นรับประทานอาหารมื้อเล็ก แต่รับประทานบ่อย ๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม การไม่สูบบุหรี่ และการไม่เคี้ยวหมากฝรั่งด้วยด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอาการสะอึกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมหายไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการรับประทานอาหาร การพูดคุย การนอนหลับ หรือรบกวนสมาธิ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ ในบางกรณีแพทย์อาจรักษาอาการสะอึกต่อเนื่องด้วยการใช้ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)