7 วิธีรับมือกับอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยตัวเอง

ปวดท้องประจำเดือนเป็นปัญหากวนใจที่หลายคนต้องพบเจอทุกรอบเดือน และในบางครั้งอาการปวดท้องประจำเดือนอาจหนักหน่วงจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ วันนี้พบแพทย์มีวิธีรับมือกับอาการปวดประจำเดือนง่าย ๆ มาฝากกัน 

อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นผลมาจากสารในร่างกายที่ชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งสารนี้จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัว ทำให้เรารู้สึกปวดเกร็งหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะวันแรกของการมีประจำเดือนที่ระดับพรอสตาแกลนดินในร่างกายเพิ่มสูงที่สุด จึงอาจทำให้ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าวันอื่น

How to deal with menstrual cramps

7 วิธีรับมือกับอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยตัวเอง

วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้หลายคนรับมือกับอาการปวดประจำเดือนได้ดีขึ้น 

1. รับประทานยาแก้ปวด

การรับประทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายากลุ่ม NSAIDs เป็นวิธีลดอาการปวดท้องประจำเดือนที่ง่ายที่สุด เนื่องจากยากลุ่มนี้สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป หรือเกือบทุกบ้านอาจมีเป็นยาสามัญประจำบ้านอยู่แล้ว 

ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งหรือลดการผลิตสารพรอสตาแกลนดินในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของมดลูกและทำให้รู้สึกปวดท้อง โดยยาในกลุ่ม NSAIDs ที่หลายคนรู้จัก เช่น ยาเมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic Acid) หรือที่รู้จักในชื่อยาพอนสแตน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน และยาแอสไพริน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา

2. ประคบด้วยถุงน้ำร้อน

การประคบด้วยถุงน้ำร้อนบริเวณท้องน้อยสามารถช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกเกิดการผ่อนคลาย ทำให้อาการปวดเกร็งลดลงได้ โดยมีงานวิจัยพบว่าการประคบร้อนช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้เทียบเท่ากับการรับประทานยาไอบูโพรเฟน

ในปัจจุบันถุงน้ำร้อนสามารถหาซื้อได้ง่ายและมีหลายรูปแบบ ทั้งถุงน้ำร้อนทั่วไปหรือถุงน้ำร้อนแบบไฟฟ้า หากไม่มีถุงน้ำร้อนสามารถใช้ขวดกรอกน้ำร้อนหรือใช้ผ้าชุบน้ำร้อนแล้วมาวางประคบไว้บริเวณท้องน้อยได้ รวมถึงการแช่น้ำอุ่นซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้เช่นกัน

3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

สารอาหารที่มีประโยชน์บางชนิดอาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม วิตามินบางชนิด และน้ำมันปลา หากใครที่ปวดท้องประจำเดือนบ่อย ๆ การรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น อาหารประเภทถั่วอย่างถั่วดำ อัลมอนด์ หรืออาหารประเภทผักใบเขียวอย่างคะน้าหรือผักโขม ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน 

นอกจากนี้ อาหารที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกายอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ด้วย เช่น ผักตระกูลกะหล่ำอย่างกะหล่ำดอกหรือบร็อคโคลี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อย่างสตรอเบอร์รี่และราสเบอร์รี่ 

4. หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท

อาหารบางประเภทไม่ควรรับประทานในขณะที่มีประจำเดือน เพราะอาจทำให้ท้องอืดหรือทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนแย่ลงได้ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารรสเค็ม และอาหารที่มีไขมันสูง หากจะรับประทานอาหารประเภทไขมัน ควรหันมาเลือกรับประทานไขมันจากปลาหรือน้ำมันมะกอกแทน เพราะเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 

5. ดื่มเครื่องดื่มอุ่น

แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยมารองรับ แต่การดื่มเครื่องดื่มอุ่นหรือชาบางชนิดที่ไม่มีคาเฟอีนอาจช่วยปรับสภาพอารมณ์ให้รู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นในขณะที่ปวดท้องประจำเดือนได้ โดยคุณอาจลองดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง หรือชงชาสมุนไพรอุ่น ๆ ดื่มสักแก้ว เช่น ชาขิง ชาคาโมมายล์  และชาเปปเปอร์มินท์

6. นวดด้วยน้ำมันหอมระเหย

การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยแบบอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) บริเวณท้องและหลังอาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ โดยน้ำมันหอมระเหยที่ได้รับการแนะนำว่าอาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน เช่น น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ น้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบ น้ำมันหอมระเหยจากเปปเปอร์มินท์

น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่มีความเข้มข้นสูงจึงควรใช้ในปริมาณน้อย และควรเจือจางกับโลชั่นหรือน้ำมันประเภทอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกลางก่อนทาลงบนผิวหนังเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคือง และควรศึกษาข้อควรระวังก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อสุขภาพด้วย

7. เล่นโยคะ

การเล่นโยคะอาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ โดยมีการศึกษาขนาดเล็กชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่เล่นโยคะสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 60 นาที ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ รู้สึกถึงอาการปวดประจำเดือนที่ลดลง โดยการเล่นโยคะสามารถเล่นได้ทั้งช่วงที่ไม่มีประจำเดือนและในระหว่างที่มีประจำเดือน แต่หากใครที่เล่นในระหว่างที่มีประจำเดือน ไม่แนะนำให้ทำท่าที่ต้องห้อยศีรษะเพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

แม้ว่าอาการปวดท้องประจำเดือนจะเป็นอาการทั่วไป แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน หากลองบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่หาย หรือมีอาการปวดท้องที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์