สมุนไพรแก้ปวดฟันเป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ซึ่งการใช้สมุนไพรมีข้อดีที่ใช้ง่าย มักมีความปลอดภัยต่อร่างกายสูง และหาได้ง่าย โดยสมุนไพรที่สามารถช่วยลดอาการปวดฟันหลายชนิดสามารถหาได้ภายในบ้านของคุณเอง
อาการปวดฟันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการฟันผุ ปัญหาโรคเหงือก หรือการนอนกัดฟัน ซึ่งอาจบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเองที่บ้านได้ด้วยวิธีการทั่วไป แต่หากมีอาการรุนแรงหรือเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษาจากทันตแพทย์อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในช่องปากที่ร้ายแรงตามมา
สมุนไพรแก้ปวดฟันที่คุณอาจยังไม่รู้
สมุนไพรแต่ละชนิดอุดมไปด้วยประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพแตกต่างกันออกไป และมีสมุนไพรอยู่หลายชนิดที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ ซึ่งสมุนไพรแก้ปวดฟันที่สามารถหาได้ง่าย ๆ ใกล้ตัวคุณมีดังนี้
1. กระเทียม
กระเทียมเป็นสมุนไพรคู่ครัวเรือนมาอย่างยาวนาน ซึ่งคุณสมบัติเด่นของกระเทียมคือมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียจากสารประกอบที่ชื่อว่าสารอัลลิซิน (Allicin) กระเทียมจึงอาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดคราบพลัคที่ฟัน รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
การใช้กระเทียมเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันมีวิธีการคือนำกระเทียมสดมาเคี้ยวช้า ๆ หรือนำกระเทียมสดมาบดก่อนนำมาทาลงบนฟันที่เกิดอาการปวดเพื่อให้สารอัลลิซินออกฤทธิ์ เนื่องจากสารชนิดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อกระเทียมสดถูกนำมาบด เคี้ยว หรือสับ และจะออกฤทธิ์เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
2. ขมิ้น
ขมิ้นเป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันที่สามารถหาได้ง่ายอีกชนิดหนึ่ง ขมิ้นมีสารประกอบเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเหงือกอักเสบและอาการปวดฟันได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยหากมีอาการปวดฟันให้นำผงขมิ้นมาผสมกับน้ำและนำมาทาหรือนวดเบา ๆ บริเวณฟันที่มีอาการปวด
3. กานพลู
กานพลูเป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยมักพบในรูปแบบของน้ำมันกานพลู ซึ่งในกานพลูจะมีสารยูจีนอล (Eugenol) ที่มีสรรพคุณในการช่วยฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ และระงับความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากมีอาการปวดฟันให้ผสมน้ำมันกานพลูประมาณ 2–3 หยดกับน้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา จากนั้นนำสำลีจุ่มน้ำมันที่ผสมเอาไว้ แล้วนำมาประคบฟันที่ปวดประมาณ 5–10 นาที ทั้งนี้ ควรระมัดระวังไม่ให้ดื่มหรือกลืนน้ำมันกานพลูเข้าไป และไม่ควรใช้ในเด็ก
4. อบเชย
อบเชยหรือซินนาม่อน (Cinnamon) มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบ จึงถือเป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันอีกชนิดที่ไม่ควรมองข้าม โดยประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบของอบเชยจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการฟันผุ อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วย
การใช้อบเชยเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันมีวิธีการง่าย ๆ คือผสมผงอบเชย 1 ช้อนชากับน้ำผึ้ง 5 ช้อนชา แล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการปวดฟัน
5. ใบฝรั่ง
ใบฝรั่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและสามารถช่วยสมานแผลได้ จึงอาจช่วยลดอาการปวดและอาการบวมที่เกิดขึ้นในช่องปาก โดยเมื่อมีอาการปวดฟัน ให้นำใบฝรั่งสดมาล้างให้สะอาดแล้วนำมาเคี้ยว หรืออาจนำใบฝรั่งมาบดแล้วผสมกับน้ำเดือด จากนั้นนำไปบ้วนปาก ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้เช่นกัน
6. สะระแหน่ (Peppermint)
ชาสะระแหน่หรือชาเปปเปอร์มินต์สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดฟันและอาการเหงือกอักเสบได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการฟันผุและอาการอักเสบในช่องปาก อีกทั้งชาเปปเปอร์มินต์มีส่วนประกอบของเมนทอลที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชา จึงสามารถช่วยระงับความเจ็บปวดได้นั่นเอง
โดยหากมีอาการปวดฟันให้นำถุงชาเปปเปอร์มินต์ที่ผ่านการชงแล้วไปแช่ในช่องแช่แข็งประมาณ 2–3 นาทีเพื่อให้ถุงชาเกิดความเย็น จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดฟัน นอกจากนี้ การบ้วนปากด้วยชาเปปเปอร์มินต์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้เช่นกัน
7. ชาเขียว
หลายคนอาจรู้จักชาเขียวในฐานะพืชที่นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม แต่ชาเขียวก็อาจมีคุณสมบัติที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วย เพราะชาเขียวมีสารโพลีฟีนอลที่ชื่อว่าเทนนิน ชาเขียวจึงมีคุณสมบัติในการช่วยลดการอักเสบได้นั่นเอง
โดยหากมีอาการปวดฟัน ให้นำถุงชาเขียวที่ผ่านการชงแล้วไปแช่ในช่องแช่แข็งประมาณ 2–3 นาทีเพื่อให้ถุงชาเกิดความเย็น จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดฟัน
การใช้สมุนไพรแก้ปวดฟันส่วนใหญ่มีความปลอดภัยแต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่คุณสามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วยตัวเอง เช่น การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป รวมถึงการรักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันเบา ๆ อย่างทั่วถึงและการใช้ไหมขัดฟัน เพื่อลดเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดอาการปวดฟันมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดฟันรุนแรง ปวดฟันต่อเนื่องนานกว่า 1–2 วัน รู้สึกปวดฟันจนกลืนน้ำลายหรือรับประทานอาหารลำบาก มีอาการเหงือกบวมแดง มีเลือดออกหรือหนองในช่องปาก และมีไข้ร่วมกับปวดฟัน ควรไปพบแพทย์