ประโยชน์ของวิตามินเอมีหลายด้าน โดยช่วยในการเจริญเติบโตและมีส่วนช่วยในระบบการทำงานของของร่างกาย เช่น บำรุงสายตา ช่วยให้เซลล์ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ อยู่ในสภาวะปกติ ช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ วิตามินเอยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ และมะเร็ง
ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างวิตามินเอเองได้ และจะได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้ เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ แครอท และมะเขือเทศ ซึ่งปริมาณวิตามินเอที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 700 ไมโครกรัมสำหรับผู้ชาย และ 600 ไมโครกรัมสำหรับผู้หญิง
หลากหลายประโยชน์ของวิตามินเอ
ประโยชน์ของวิตามินเอที่มีต่อสุขภาพ เช่น
1. ช่วยบำรุงสายตา
วิตามินเอช่วยในการมองเห็น โดยเฉพาะที่ที่มีแสงสลัว โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารโรดอปซิน (Rhodopsin) ในเซลล์ที่อยู่ในจอประสาทตา (Retina) ซึ่งช่วยในการปรับสายตาให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาอีกด้วย การขาดวิตามินเอจึงอาจทำให้เกิดโรคตาแห้ง และโรคตาบอดกลางคืน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษา
นอกจากนี้ วิตามินเอยังช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตาตามวัย เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) ในผู้สูงอายุ โดยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นวิตามินกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งจะเปลี่ยนรูปเป็นวิตามินเอในภายหลังนั้นช่วยป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมและโรคตาบอดกลางคืนได้
2. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
วิตามินเอช่วยในการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว และเยื่อบุภายในดวงตา ปอด ลำไส้เล็ก ทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ จึงช่วยป้องกันอนุมูลอิสระ (Free Radical) และเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อภายในร่างกาย การขาดวิตามินเอจึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้ช้าลง
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินเออาจช่วยป้องกันความรุนแรงในเด็กที่เป็นโรคหัด (Measles) ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต และป้องกันการเกิดโรคหัดในผู้ป่วยรายใหม่ได้
3. บำรุงผิวพรรณ
ประโยชน์ของวิตามินเอในการบำรุงผิวคือช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดยอนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และปัจจัยอื่น ๆ เช่น มลพิษในอากาศ และรังสียูวีในแสงแดด เบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยความแก่ของเซลล์ผิวหนัง ช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ ป้องกันการเกิดฝ้า กระ และริ้วรอยก่อนวัย
นอกจากนี้ การได้รับวิตามินเอไม่เพียงพออาจทำให้เกิดสิวได้ง่าย เพราะเมื่อร่างกายขาดวิตามินเอจะไปกระตุ้นการผลิตเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในเส้นขนและผม ออกมามากผิดปกติ ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออกจากรูขุมขนได้ยากขึ้น ทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวตามมา ในปัจจุบันจึงมีการนำสารในกลุ่มวิตามินเอ เช่น เรตินอยด์ (Retinoids) ในรูปยาทาและยารับประทานมาใช้ในการรักษาสิวและริ้วรอย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีวิตามินเอในการรักษาปัญหาผิวควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร การได้รับวิตามินเอมากเกินไปอาจทำให้ผิวแห้งหยาบ ลอก และคัน
นอกจากนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีวิตามินเอในปริมาณมาก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารก และไม่ควรใช้ยาทาผิวในกลุ่มวิตามินเอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้สารตัวอื่นทดแทน
4. บำรุงกระดูก
วิตามินเอเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงกระดูกสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่นเดียวกับโปรตีน วิตามินดี และแคลเซียม โดยช่วยในการเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยเสริมความแข็งแรงและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บ ซึ่งคนที่ขาดวิตามินเออาจเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ทั้งนี้ ควรรับประทานวิตามินเอในปริมาณที่เหมาะสม หากได้รับวิตามินมากเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกเปราะหัก และโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
5. บำรุงระบบสืบพันธุ์ และการเติบโตของทารก
วิตามินเอช่วยบำรุงระบบสืบพันธ์ุของทั้งเพศชายและหญิง และมีส่วนช่วยให้ตัวอ่อนในครรภ์เติบโตและมีพัฒนาการตามเกณฑ์ปกติ การขาดวิตามินเอจึงอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และทำให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้าผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินเอมากเกินไปอาจทำให้เกิดความผิดปกติโดยกำเนิด (Birth Defects) และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดการเจ็บป่วยของทารก ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาการที่มีวิตามินเอสูงในปริมาณมาก และไม่ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอโดยไม่อยู่ในคำแนะนำของแพทย์
6. เสริมสร้างความจำ
สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เช่น อัลฟาแคโรทีน เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของการรับรู้และความจำ ซึ่งแคโรทีนอยด์พบมากในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แดง และผักใบเขียว
งานวิจัยหนึ่งระบุว่า การรับประทานอาหาร MIND Diet (Mediterranean-DASH Intervention for Neurodegenerative Delay) ที่เน้นรับประทานผักผลไม้ที่มีสารแคโรทีนอยด์ อาจช่วยชะลอการเสื่อมถอยของความจำและการเรียนรู้ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้
7. ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนอาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปากมดลูก แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกและประโยชน์ของวิตามินเอที่มีต่อโรคมะเร็ง จึงอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
โดยทั่วไป การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ และผักผลไม้สีเขียว เหลือง และส้ม จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์ของของวิตามินเออย่างเพียงพอ หากต้องการรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพราะการรับประทานวิตามินเอมากเกินไปจะทำให้วิตามินเอสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดและเวียนศีรษะ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้