วิธีแก้เท้าเหม็นสำหรับคนที่มีกลิ่นเท้า เท้ามีเหงื่อ หรืออับชื้นบ่อย ๆ มีหลายวิธีที่ทำได้ง่ายด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลความสะอาดเท้า เลือกถุงเท้าและรองเท้าให้เหมาะสม ขัดและแช่เท้า ไปจนถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยระงับกลิ่นเท้า แต่สำหรับคนที่เท้าเหม็นไม่หายขาด อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
เท้าเหม็นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย พบมากในคนที่มีเหงื่อมาก สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่ไม่ระบายอากาศเป็นเวลานาน คนที่ไม่รักษาความสะอาดที่เท้า และอาจเกิดจากโรคบางอย่าง โดยปกติแล้ว เท้าจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ เมื่อบริเวณเท้ามีเหงื่อออกมาก จะทำให้แบคทีเรียที่เท้าเติบโตได้ดีและสร้างกลิ่นเท้าที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งส่งผลให้ขาดความมั่นใจได้ วิธีแก้เท้าเหม็นเป็นตัวช่วยที่จะสร้างสุขอนามัยและคืนความมั่นใจให้แก่คุณ
วิธีแก้เท้าเหม็นให้หายขาด
วิธีแก้เท้าเหม็นที่ทำได้ด้วยตัวเอง มีดังนี้
1. รักษาความสะอาดของเท้า
วิธีแก้เท้าเหม็นวิธีแรกคือการรักษาความสะอาดบริเวณเท้า เนื่องจากเท้าเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่ออยู่มาก และเป็นบริเวณที่อับชื้นและสกปรกได้ง่ายจากการสวมรองเท้าและถุงเท้าในระหว่างวัน ดังนั้น ควรทำความสะอาดเท้าอย่างน้อยวันละครั้ง ในตอนเช้าหรือเมื่อกลับถึงบ้านในตอนเย็น โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยน หรือสบู่ฆ่าเชื้อฟอกเท้าแล้วล้างออก
รวมทั้งควรตัดเล็บเท้าให้สั้น รักษาความสะอาดของเล็บเป็นประจำ และกำจัดหนังเท้าที่แข็งออก โดยใช้แปรงหรือหินขัดเท้าสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรีย
2. แช่เท้าในน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชู
หากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และน้ำแล้วกลิ่นเท้ายังไม่ดีขึ้น การแช่เท้าในน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชูสัปดาห์ละครั้งก็เป็นวิธีแก้เท้าเหม็นที่ได้ผลเช่นกัน
- เกลือจะช่วยดึงความชื้นออกจากผิว และลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เท้าเหม็น โดยผสมดีเกลือฝรั่ง (Epsom Salt) ประมาณครึ่งถ้วยลงในน้ำอุ่น หากหาไม่ได้ อาจใช้เกลือปรุงอาหารหรือเกลืออาบน้ำแทนได้ แช่เท้าทิ้งไว้ 10–20 นาที และเช็ดเท้าให้แห้ง
- น้ำส้มสายชูมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะช่วยแก้เท้าเหม็นได้ โดยผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) 1 ส่วนกับน้ำอุ่น 2 ส่วน แช่เท้าทิ้งไว้ 15–20 นาที อย่างไรก็ตาม หากมีแผลเปิดที่เท้า ไม่ควรแช่เท้าในน้ำส้มสายชู เพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้
3. ดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
หากเท้าเปียกชื้นอาจทำให้เท้าเหม็นได้ง่ายขึ้น ควรเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังจากล้างเท้า โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้าที่เปียกชื้นง่ายและแบคทีเรียเติบโตได้ดี โดยอาจโรยแป้งฝุ่นบาง ๆ เพื่อช่วยดูดซับเหงื่อและความชื้นที่เท้า ในตอนกลางคืนอาจใช้สำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์เช็ดเท้า เพื่อช่วยให้เท้าแห้ง ยกเว้นในกรณีที่มีแผลแตกหรือแผลเปิดที่เท้า เพราะอาจทำให้แสบแผลได้
4. ใส่ใจการเลือกถุงเท้าและรองเท้า
ถุงเท้าและรองเท้าเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่เท้าได้ โดยวิธีแก้เท้าเหม็นจากถุงเท้าและรองเท้า มีดังนี้
- เลือกถุงเท้าที่ซึมซับและระบายเหงื่อได้ดี ไม่อมความชื้น เช่น ถุงเท้าที่ทำจากใยธรรมชาติ และถุงเท้าสำหรับนักกีฬา
- สวมรองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่เปิดนิ้วเท้าในวันที่มีอากาศร้อน และควรเดินเท้าเปล่าในวันที่อยู่ในบ้าน เพื่อให้เท้าแห้งและป้องกันเท้าเหม็น
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่คับเกินไป เพราะาจทำให้เหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น
- เปลี่ยนแผ่นรองด้านในรองเท้าเป็นแผ่นรองมีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เท้า
5. เปลี่ยนถุงเท้าและรองเท้าบ่อย ๆ
ควรเปลี่ยนถุงเท้าใหม่ที่ซักสะอาดแล้วทุกวัน ไม่ใส่ถุงเท้าซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ทำให้เท้าเหม็น หากอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมาก ออกกำลังกาย หรือเมื่อมีเหงื่อออกมากที่เท้า ควรเปลี่ยนถุงเท้าคู่ใหม่
เช่นเดียวกันกับรองเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมติดกันหลายวัน หากรองเท้าชื้นเหงื่อหรือเปียกน้ำ ควรผึ่งลมหรือแดดอ่อน ๆ เพื่อให้เหงื่อและความชื้นในรองเท้าแห้งอย่างน้อย 1 วันก่อนนำมาใส่
6. ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้า
การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าเป็นวิธีแก้เท้าเหม็นที่ทำได้สะดวก ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีขายทั่วไปหลายรูปแบบ เช่น ผงแป้ง และสเปรย์ดับกลิ่นเท้า ซึ่งจะช่วยดูดซับความชื้นในรองเท้า ป้องกันการก่อตัวของเชื้อราและแบคทีเรีย และให้กลิ่นหอม
7. ปรึกษาแพทย์
บางครั้ง ปัญหาเท้าเหม็นที่เกิดขึ้นไม่หายขาดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) โรคน้ำกัดเท้า (Athlete's Foot) โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคเครียด และความผิดปกติของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
การรักษาจะขึ้นอยู่กับโรคที่ตรวจพบ เช่น กรณีที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ แพทย์อาจให้ใช้ยาระงับกลิ่นเท้า ฉีดโบทอกซ์ (Botox) ที่เท้า เพื่อลดเหงื่อทุก 3–4 เดือน หรือการใช้ประจุไฟฟ้าระงับการทำงานของต่อมเหงื่อ (Iontophoresis)
หากใช้วิธีแก้เท้าเหม็นแล้วยังมีปัญหากลิ่นเท้าไม่หาย หรือมีอาการติดเชื้อที่เท้า เช่น ปวดเท้า เท้าบวมแดง เป็นแผลลอก มีริ้วสีแดงขึ้นที่เท้า จับเท้าแล้วรู้สึกอุ่น มีหนองไหล และมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน