7 วิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียน 10–14 ปี เคล็ดลับที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

วิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียนมีอยู่หลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองของลูก ช่วยเสริมความจำและสมาธิ ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และช่วยให้ลูกสามารถเรียน ทำข้อสอบ หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม หากคุณพ่อคุณแม่ทราบแนวทางเหล่านี้ ก็จะช่วยพัฒนาสมองของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เด็กในวัยเรียน โดยเฉพาะช่วงอายุ 10–14 ปี เป็นวัยที่เหมาะกับการพัฒนาสมอง เพราะสมองยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงควรช่วยเสริมการทำงานของสมองเพื่อช่วยให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นระบบ ทักษะการวางแผน ทักษะการตัดสินใจ และสามารถรับมือกับการเรียน การสอบ หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่มากขึ้นของตัวเองที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในวัยนี้ด้วย

วิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียน

วิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียน เริ่มต้นง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาวิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียนให้แก่ลูก สามารถนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยเสริมการทำงานของสมองของลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

1. ให้ลูกดื่มซุปไก่สกัด

การดื่มซุปไก่สกัดเป็นวิธีง่าย ๆ หรือเคล็ดลับที่อาจช่วยเสริมการทำงานของสมอง เพราะซุปไก่สกัดมีคาร์โนซีน (Carnosine) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมอง โดยจะช่วยบูสต์ให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจช่วยปกป้องหรือชะลอความเสียหายของสมองได้ด้วย

โดยงานวิจัยเรื่อง Effectiveness of Essence of Chicken on Cognitive Function Improvement: A Randomized Controlled Clinical Trial ในปี 2018 ได้ทำการศึกษาผู้ที่มีสุขภาพดีในช่วงอายุ 18–45 ปี จำนวน 235 คนที่รับประทานซุปไก่สกัดทุกวันเป็นเวลา 14 วัน พบว่าซุปไก่สกัดอาจส่งผลดีต่อกระบวนการคิดวิเคราะห์ เช่น เพิ่มความจำระยะสั้น หรือความจำที่ใช้ในการทำงานอย่างการจดจำข้อมูลต่าง ๆ 

การดื่มซุปไก่สกัดเพื่อช่วยบำรุงสมองไม่จำเป็นต้องดื่มแค่ในช่วงที่ต้องใช้สมองหนัก เช่น ช่วงใกล้สอบที่ต้องอ่านหนังสือหนักเท่านั้น แต่สามารถดื่มได้ทุกวัน โดยเฉพาะในตอนเช้า เพื่อช่วยเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวัน ทั้งนี้ ควรเลือกดื่มผลิตภัณฑ์ซุปไก่สกัดจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากซุปไก่สกัดอย่างครบถ้วน

2. ให้ลูกรับประทานอาหารเช้าบำรุงสมอง

การรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์เป็นวิธีการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี เพราะอาหารเช้าไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองแล่น รู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า คิด วิเคราะห์ และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดี จึงสามารถช่วยให้ลูกพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน

โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีคุณสมบัติในการบำรุงสมอง มีสารอาหารหลากหลาย ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เช่น ไข่ เนื้อปลาที่มีไขมันดี ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ นอกจากนี้ สำหรับในยามเช้าที่เร่งรีบ อาจเลือกอาหารที่รับประทานง่าย ไม่หนักท้อง และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เช่น ซุปไก่สกัด ก็ได้เช่นกัน

3. ดูแลให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองของเด็กในวัยเรียนมาก โดยเด็กในวัยเรียนควรนอนหลับวันละ 8–10 ชั่วโมงในเวลาเดิมและตื่นเวลาเดิมทุกวัน เพื่อช่วยพัฒนาสมองให้เหมาะสมตามช่วงวัย อีกทั้ง การนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้เด็กมีสมาธิ สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

4. สอนให้ลูกจัดระบบความคิดผ่านการเขียน

การเขียนแผนที่ความคิด (Mind map) ซึ่งเป็นการจดบันทึกโดยใช้รูปภาพ เส้น สี และข้อความประกอบในลักษณะคล้ายแผนที่ที่แตกแขนงออกไป หรือการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ (To-do list) อาจช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้อีกวิธีหนึ่ง โดยอาจนำมาใช้ในการสรุปเนื้อหาของบทเรียนให้เข้าใจง่าย หรือใช้จำแนกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน ทำให้สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

เพราะการทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยจัดระบบความคิด ช่วยให้เด็กคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือหรือแผนภาพให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความจำ การจัดลำดับความสำคัญ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ด้วย

5. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

การเรียนภาษาที่ 2 หรือภาษาที่ 3 เป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาสมองให้แก่เด็กวัยเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง เพราะการเรียนภาษาจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และจดจำคำศัพท์หรือประโยคใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่งผลให้สมองเกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น

โดยการเรียนภาษาไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนอย่างเคร่งเครียดผ่านหนังสือเรียนเท่านั้น แต่สามารถปรับการเรียนรู้ให้อยู่ในรูปแบบของเกมฝึกสมองที่มีความสนุกสนาน เช่น เกมอักษรไขว้ (Crossword) หรือเรียนรู้ผ่านสื่อภาษาต่างประเทศ เช่น เพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือการ์ตูนก็ได้เช่นกัน ซึ่งผู้ปกครองสามารถช่วยเลือกเกมหรือสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่ลูกของตัวเองได้

6. เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย

การทำกิจกรรมที่ท้าทาย เช่น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การทำงานอดิเรกที่ลูกสนใจ หรือเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นการช่วยฝึกให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เมื่อลูกมีประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้และส่งผลดีต่อการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยฝึกให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และอาจช่วยให้ลูกค้นพบความถนัดใหม่ ๆ ที่ช่วยเป็นแรงบันดาลใจในอนาคตได้ด้วย

7. สอนและเลี้ยงดูลูกด้วยเหตุและผล

การเลี้ยงดูของผู้ปกครองส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ สุขภาพจิต และการพัฒนาทางสมองของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งอาจมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้นหรือมีความดื้อรั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนหรืออธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก เพื่อช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว

การเลี้ยงดูลูกด้วยเหตุผลจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การใช้เหตุผลจากผู้ปกครอง โดยอาจช่วยให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งใดผิดและสิ่งใดถูก และมีความยับยั้งชั่งใจในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากลูกทำผิดไม่ควรใช้คำพูดหรือการลงโทษที่รุนแรง เพราะนอกจากจะสร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่เด็กแล้ว ยังอาจทำให้เด็กปิดกั้นตัวเองจากครอบครัว และส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทางอารมณ์และสมองของเด็กด้วย

นอกจากวิธีข้างต้นนี้ ยังมีวิธีพัฒนาสมองสำหรับเด็กวัยเรียนที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่าย ๆ อีกหลายประการ เช่น การใช้เวลาร่วมกันในวันหยุด หรือการใส่ใจสภาพแวดล้อมของลูกนอกเหนือจากที่บ้าน เช่น สังคมของเพื่อนที่โรงเรียน ว่าเพื่อน ๆ ของลูกและตัวลูกเองนั้นมีความสนใจในเรื่องใด และมักจะทำกิจกรรมใดร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมการพัฒนาสมองหรือไม่ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมหรือแนะนำกิจกรรมพัฒนาสมองให้ลูกและเพื่อน ๆ ได้ทำร่วมกันก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเลี้ยงดูลูกอย่างตึงเครียดหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความรัก จนอาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 13 พฤษภาคม 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD