วิธีรักษาผื่นแพ้บนใบหน้า คือวิธีสำหรับช่วยบรรเทาอาการผื่นแดงหรือบวมบนใบหน้า ซึ่งเกิดจากอาการแพ้ หรือการระคายเคือง ที่ทำให้รู้สึกคัน เจ็บ แสบ อีกทั้งยังสร้างความรำคาญใจ และทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ โดยบทความนี้จะแนะนำวิธีการดูแลรักษาผื่นแพ้บนใบหน้า รวมถึงวิธีการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ที่สามารถทำตามได้ง่ายและได้ผลดี
ผื่นแพ้บนใบหน้ามักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในสิ่งต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรืออาจเป็นผลจากการใช้ยาทาเฉพาะที่ก็ได้ โดยผื่นแพ้บนใบหน้าอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น จาม ไอ น้ำตาไหล ตาแดง รู้สึกคันที่ดวงตา อย่างไรก็ตาม กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาจไม่ใช่อาการแพ้ แต่เป็นเพียงอาการระคายเคืองที่ผิวหนังก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่มีผื่นบนใบหน้าจึงควรหาสาเหตุของอาการ เพื่อรักษาได้อย่างเหมาะสม
วิธีการรักษาผื่นแพ้บนใบหน้า
วิธีการรักษาผื่นแพ้บนใบหน้าที่ได้ผลดี มีดังนี้
1. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่อาจเป็นสาเหตุ
ผื่นแพ้บนผิวหน้ามักเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด น้ำหอมในมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ผู้ที่มีอาการผื่นแพ้บนใบหน้า โดยเฉพาะหากมีอาการหลังจากเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง ควรหยุดใช้ทันที เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ และอาจทำให้อาการแย่ลงได้
2. ทำความสะอาดผิวหน้า
หากเริ่มมีผื่นแพ้ขึ้นที่บริเวณใบหน้า ควรหลีกเลี่ยงการเกาเนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง หรือทำให้ติดเชื้อได้ และควรทำความสะอาดใบหน้าด้วยเจลหรือโฟมล้างหน้าสูตรผิวแพ้ง่าย ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และล้างออกด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น การทำความสะอาดผิวหน้าเช่นนี้จะช่วยกำจัดสิ่งสกปรก ความมัน และสารก่ออาการแพ้ได้อย่างอ่อนโยน อีกทั้งยังลดความเสี่ยงติดเชื้อ และลดอักเสบได้
3. เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหน้า
ผู้ที่มีผื่นแพ้บนใบหน้าอาจเพิ่มความชุ่มชื่นด้วยการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่ น้ำแร่ หรือเจลว่านหางจระเข้สูตรสำหรับผิวบอบบางแพ้ง่าย ไม่ผสมน้ำหอม เมื่อผิวมีความชุ่มชื้น ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวบริเวณที่มีผื่นแพ้แห้งแตก หรือลอก นอกจากนี้ เจลว่านหางจระเข้ยังมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และช่วยลดการอักเสบอีกด้วย
4. ทาคาลาไมน์
คาลาไมน์สามารถช่วยบรรเทาอาการคันที่ไม่รุนแรงได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้ตุ่มน้ำแห้งเร็วขึ้น แต่ผู้ใช้ควรทาโดยระวังไม่ให้คาลาไมน์ใกล้กับบริเวณดวงตา และปาก นอกจากนี้ ควรอ่านส่วมผสมของคาลาไมน์เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้แพ้ส่วนผสมใด ๆ ก่อนเริ่มใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ที่จะทำให้อาการแย่ลง
5. รับประทานยา
การรับประทานยา เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาผื่นแพ้บนใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นยาที่หาซื้อได้เองจากร้านขายยา เช่น ยาแก้แพ้ อย่างยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) โดยผู้ที่มีอาการควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ยา เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ และควรอ่านฉลากยาให้ครบถ้วนก่อนใช้ยา
6. สวมใส่หน้ากากอนามัย
ผู้ที่แพ้ฝุ่น ไร ละอองเกสรดอกไม้ รา สัตว์เลี้ยง และสิ่งก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมโดยรอบ อาจสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ใบหน้าสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่กระตุ้นอาการแพ้ รวมถึงมลพิษ โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เนื่องจากมีมาตรฐานและประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น หรือละอองขนาดเล็ก
7. ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ผู้ที่มีอาการผื่นแพ้บนใบหน้าบ่อยครั้ง อาจรับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพื่อระบุหาต้นเหตุของอาการ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมีทั้งแบบใช้แผ่นแปะ (patch test) วิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick Test) และการตรวจเลือด ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในโรงพยาบาล สถาบันโรคผิวหนัง หรือคลินิกใกล้บ้านก็ได้
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ แม้ว่าจะพยายามบรรเทาอาการแล้ว หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดข้อ เจ็บคอ มีอาการคล้ายไข้หวัด หรือผื่นแพ้แพร่กระจายไปส่วนอื่น ๆ ทั่วร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ และควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการหายใจลำบาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม มีตุ่มพองที่บริเวณดวงตา ปาก หรืออวัยวะเพศ