การรู้จักวิธีรักษาอาการปวดตามข้ออาจช่วยลดอาการปวดเมื่อย หรืออาการเจ็บตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายได้ โดยการรักษาอาการปวดตามข้อเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากอาการปวดตามข้ออาจส่งผลต่อการทํางานของข้อต่อ และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ข้อต่อ เป็นอวัยวะชนิดหนึ่งที่เชื่อมยึดกระดูกตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปเข้าไว้ด้วยกัน เช่น บริเวณไหล่ สะโพก ข้อศอก หัวเข่า รวมทั้งยังช่วยในการเคลื่อนไหวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อาการปวดตามข้อเป็นอาการที่พบได้ในทุกวัย แต่อาจพบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อม โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
วิธีรักษาอาการปวดตามข้อที่ทำตามได้ไม่ยาก
การรักษาอาการปวดตามข้ออาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่ผู้ที่มีอาการปวดตามข้ออาจใช้วิธีรักษาอาการปวดตามข้อหลากหลายวิธีเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ เช่น
1. การประคบร้อนและประคบเย็น
ประคบร้อนและประคบเย็นเป็นวิธีรักษาอาการปวดตามข้อที่สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการประคบร้อนอาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และลดอาการปวดตามข้อ เพียงประคบร้อนครั้งละ 15–20 นาทีบริเวณที่ปวด โดยความร้อนอาจช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อให้ดีขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้นอีกด้วย
สำหรับการประคบเย็น อาจเหมาะสำหรับอาการปวดตามข้อที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บ โดยการประคบเย็นอาจช่วยลดการไหลเวียนเลือดมายังบริเวณที่บาดเจ็บ และช่วยลดอาการปวด บวม หรืออักเสบได้ โดยประคบเย็นบริเวณที่ปวดตามข้อประมาณ 10–15 นาที แต่ไม่ควรเกิน 20 นาที เพราะความเย็นอาจทำให้เส้นประสาท และผิวหนังได้รับความเสียหายได้
2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอาจเป็นวิธีรักษาอาการปวดตามข้อที่ส่งผลดีในระยะยาว เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยให้ข้อต่อแข็งแรง และกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอาการปวดตามข้อ คือการออกกำลังกายมีแรงกระแทกน้อย (Low-impact exercise) เช่น การว่ายน้ำ การเดิน การปั่นจักรยาน
นอกจากนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการมีน้ำหนักเยอะอาจทำให้ข้อต่อต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อตามมาได้ ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดน้ำหนัก และบรรเทาอาการปวดตามข้อได้
3. การพักการออกแรงบริเวณที่ปวด
วิธีรักษาอาการปวดตามข้อต่าง ๆ อาจเห็นผลลัพธ์ได้อย่างไม่เต็มที่ หากยังคงมีการออกแรงบริเวณข้อต่ออย่างต่อเนื่อง โดยควรหยุดการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องออกแรงบริเวณที่ปวด เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาที่มีการใช้แรงเยอะ หรือการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง
4. การใส่อุปกรณ์พยุงข้อต่อ
การใส่อุปกรณ์พยุงข้อต่อต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์พยุงเข่า อุปกรณ์พยุงคอ หรืออุปกรณ์ช่วยพยุงอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ปวดข้อ โดยอุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยลดการเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อ และอาจช่วยลดอาการปวดตามข้อต่ออีกด้วย
5. การนวด
การนวดเป็นวิธีรักษาอาการปวดตามข้ออีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้อาการปวดตามข้อลดลง ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการปวดตามข้อ ควรนวดกับนักกายภาพบำบัดที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
สำหรับการนวดแผนไทยอาจเป็นวิธีรักษาอาการปวดตามข้อได้เช่นกัน แต่ควรนวดเบา ๆ ไม่ใช้แรงเยอะ เพราะการออกแรงนวดมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการที่ข้อต่อได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม และส่งผลให้ปวดตามข้อรุนแรงมากกว่าเดิม
6. การทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดอาจส่งผลให้อาการปวดตามข้อดีขึ้น โดยนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำท่าบริหารร่างกาย หรือวิธีการบำบัดอื่น ๆ ที่ช่วยให้ข้อต่อทำงานได้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดตามข้อ หรือป้องกันไม่ให้อาการปวดตามข้อรุนแรงขึ้น
7. การใช้ยา
วิธีรักษาอาการปวดตามข้ออีกหนึ่งวิธี คือการใช้ยาแก้ปวดต่าง ๆ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดตามข้อที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การใช้ยาทาแก้ปวดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาอาการปวดตามข้อ ซึ่งนอกจากจะบรรเทาอาการปวดตามข้อแล้ว ยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้ออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดตามข้อไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถขยับข้อต่อบริเวณนั้นได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษา ซึ่งวิธีรักษาอาการปวดตามข้อจากแพทย์มีหลายวิธี เช่น การจ่ายยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าชนิดที่หาซื้อได้ทั่วไป การฉีดสเตียรอยด์
ทั้งนี้ หากอาการปวดตามข้อไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดตามข้อให้ดีขึ้นแทน