วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนเป็นวิธีที่จะช่วยให้คนที่มีอาการคัดจมูกในตอนกลางคืนหายใจสะดวกขึ้น และหลับสบายมากขึ้น และยังอาจช่วยป้องกันการเกิดอาการกรน และปัญหาเกี่ยวกับการหายใจขณะหลับได้อีกด้วย
อาการคัดจมูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากเกิดจากโรคภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาการคัดจมูกมักจะแย่ลงในตอนกลางคืน เนื่องจากเลือดมักจะไหลเวียนไปที่บริเวณศีรษะมากขึ้นขณะที่เรานอนราบไปกับเตียง ทำให้หลอดเลือดในจมูกบวม และเกิดอาการคัดจมูกตามมา
วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนด้วยตัวเอง
หากมีอาการคัดจมูกตอนกลางคืน ลองทำตามวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนเหล่านี้ดู
1. จัดห้องนอนและท่านอน
การนอนหงายจะยิ่งทำให้มีอาการคัดจมูกตอนกลางคืน วิธีแก้คือใช้หมอนอีกใบหนุนให้ศีรษะสูงขึ้น เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกและนอนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจัดห้องนอนให้มีบรรยากาศเหมาะกับการนอน เช่น ปิดม่านกันแสงจากภายนอกห้อง เปิดโคมไฟสลัว ๆ และปรับอุณหภูมิในห้องให้พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป จะช่วยให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
2. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้คือการหลีกเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม เช่น ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะในห้องนอน ซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน และผ้าห่มบ่อย ๆ ใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อกำจัดฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ
ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิทในวันที่ลมแรง งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ชิด และคนที่มีอาการแพ้ที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องนอน ควรจัดที่ให้สัตว์เลี้ยงแยกเพื่อไม่ให้ขนและสะเก็ดผิวหนังของสัตว์กระตุ้นอาการคัดจมูกตอนนอน
3. ล้างจมูก
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะจะช่วยชะล้างน้ำมูกและสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูกออก ช่วยให้โพรงจมูกชุ่มชื้น จึงช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัดและโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้ดี โดยใช้น้ำเกลือสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือน้ำเกลือที่ผสมเอง ล้างจมูกวันละ 1–2 ครั้ง สำหรับคนที่ใช้ยาพ่นจมูก แพทย์อาจให้ล้างจมูกก่อนพ่นยา เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น
4. สูดไอน้ำร้อน
การสูดไอน้ำร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดโพรงจมูกยุบลง เพิ่มความชุ่มชื้นในโพรงจมูก และช่วยให้น้ำมูกที่เหนียวข้นถูกขับออกมาง่ายขึ้น จึงเป็นวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนได้ดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ และภูมิแพ้
วิธีสูดไอน้ำร้อนคือเทน้ำร้อนใส่ชามหรือภาชนะปากกว้าง โดยอาจหยดน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส ลงไป 2–3 หยด จากนั้นใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่คลุมศีรษะ หลับตาและก้มลงเหนือภาชนะใส่น้ำร้อน แล้วสูดไอระเหยจากภาชนะนั้นประมาณ 2–5 นาที สำมารถทำซ้ำได้วันละ 2–3 ครั้ง
5. ใช้ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูกมีหลายประเภท โดยผู้ที่มีอาการคัดจมูกตอนนอนควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น ยาพ่นจมูกชนิดมีสเตียรอยด์ เช่น ฟลูติคาโซน (Fluticasone) และอะเซลาสทีน (Azelastine) เหมาะสำหรับผู้มีอาการภูมิแพ้จมูกหรือคัดจมูกเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและลดน้ำมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
ส่วนวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนด้วยยาพ่นจมูกสำหรับคนที่เป็นโรคหวัด อาจเหมาะกับการใช้ยาพ่นจมูกชนิดที่ออกฤทธิ์หดหลอดเลือด เช่น ออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline) แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 2–3 วัน เพราะอาจทำให้อาการคัดจมูกรุนแรงขึ้น ผู้ที่มีอาการคัดจมูกควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
6. รับประทานยา
ยาชนิดรับประทานเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนที่มีประสิทธิภาพ โดยยาแก้คัดจมูกที่สามารถหาซื้อได้เอง ได้แก่ ยาแก้คัดจมูกที่ช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดในโพรงจมูก เช่น ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) และฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกเวลานอน รวมถึงอาการคันจมูกและจามจากโรคภูมิแพ้ คือยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และลอราทาดีน (Loratadine) ยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมหลังรับประทาน จึงเหมาะกับรับประทานก่อนนอน ซึ่งอาจช่วยให้หลับสนิทดีขึ้น
7. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
วิธีแก้คัดจมูกเวลานอนวิธีสุดท้ายคือการดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวัน โดยปกติแล้วควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณวันละ 2 ลิตร โดยอาจดื่มน้ำเปล่า หรือชาสมุนไพรอุ่น ๆ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้น
หากทำตามวิธีแก้คัดจมูกเวลานอนข้างต้นแล้วยังมีอาการคัดจมูกนานกว่า 3 สัปดาห์ หรืออาการคัดจมูกรบกวนการนอนหลับ มีอาการหายใจลำบาก ปวดไซนัส มีน้ำมูกข้นสีเขียวหรือเหลือง มีไข้สูง มีเลือดหรือหนองปนในน้ำมูก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา