7 สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบได้บ่อย พร้อมวิธีรักษาเบื้องต้น

อาการไอเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นสัญญาณของโรคได้หลายโรค ตั้งแต่โรคที่ไม่รุนแรงไปจนถึงโรคร้ายแรง อีกทั้งอาการไอเรื้อรังยังสามารถรบกวนการใช้ชีวิต การนอนหลับและบุคลิกภาพอีกด้วย การหาสาเหตุและดูแลตนเองเมื่อมีอาการไอเรื้อรังอย่างถูกวิธีอาจช่วยบรรเทาอาการไอได้

การหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังอาจเริ่มจากการสังเกตลักษณะของอาการไอ ระยะเวลาที่อาการเรื้อรัง และอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้แม่นยำขึ้นและนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม โดยในบทความนี่ได้รวบรวมสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการไอเรื้อรังและลักษณะของโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อเป็นจุดสังเกตอาการด้วยตนเองในเบื้องต้น

Causes of Chronic Cough

ในทางการแพทย์ อาการไอเรื้อรังคืออาการไอที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเกินกว่า 8 สัปดาห์ในผู้ใหญ่ หรืออาการไอที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 4 สัปดาห์ในเด็ก ซึ่งอาการไอเรื้อรังถือว่าเป็นอาการที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

 

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบได้บ่อย

อาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายสัปดาห์มักเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีโรคบางโรคและพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน ดังนี้

1. การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่อาจเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะสารพิษในบุหรี่สามารถเข้าไปทำลายเซลล์ภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบจนกระตุ้นให้เกิดอาการไอเรื้อรัง โดยคนที่สูบบุหรี่มักพบอาการไอแห้ง แต่บางครั้งก็อาจพบอาการไอมีเสมหะได้เช่นกัน

การสูบบุหรี่ในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรงหลายโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำคอ โรคมะเร็งกล่องเสียง และโรคมะเร็งในช่องปาก ดังนั้น หากทราบว่าตนเองติดบุหรี่ สูบบุหรี่และมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนานหลายปี ร่วมกับพบสัญญาณของโรคมะเร็ง เช่น มีก้อนในลำคอ กลืนลำบาก เสียงหายใจหวีดแหลม น้ำหนักเพิ่มหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และเหนื่อยล้าอ่อนเพลียเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ การได้รับควันบุหรี่หรือบุหรี่มือสองก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการไอเรื้อรังได้เช่นกัน หากคนในบ้านสูบบุหรี่เป็นประจำอาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง

2. เสมหะในลำคอ

เสมหะในลำคอ (Postnasal Drip) เกิดได้จากหลายโรค ทั้งโรคหวัด โรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated Nasal Septum) และอีกหลายโรค หรือปัจจัยภายนอก อย่างอากาศที่เย็นจัดหรือแห้งจัด หรือการสูดดมสารเคมีและฝุ่นควันก็ทำให้เกิดเสมหะในลำคอได้เช่นกัน

เสมหะในลำคอที่ข้นเหนียวและมีปริมาณมากขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดไอเพื่อกำจัดเสมหะออก ซึ่งคนที่มีโรคเรื้อรัง อย่างโรคไซนัสอักเสบและโรคภูมิแพ้ คนที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีและฝุ่นควันเป็นประจำ หรือคนที่พักอาศัยในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวันอาจเผชิญกับปัญหาไอเรื้อรังจากเสมหะในลำคอได้

3. โรคหืด

โรคหืด (Asthma) หรือโรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากผนังหลอดลมบวม ทำให้หลอดลมตีบแคบฉับพลัน ส่งผลให้การหายใจผิดปกติ หายใจหอบ แน่นหน้าอก และหายใจหวีดแหลม ซึ่งอาการไอก็เป็นอีกอาการหลักที่พบในผู้ป่วยโรคหืด นอกจากนี้ โรคหืดยังทำให้มีเสมหะในลำคอเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดอาการไอด้วยเช่นกัน

โรคหืดมักถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝุ่นควัน น้ำหอม สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ เชื้อโรค การออกกำลังกาย รวมถึงอารมณ์ด้านลบที่รุนแรง อย่างความเครียด ความเศร้า และความกลัว เป็นต้น

4. โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำย่อยที่หลั่งออกมาไหลย้อนขึ้นมาบริเวณลำคอ เมื่อน้ำย่อยที่มีฤทธิ์เป็นกรดสัมผัสกับเยื่อบุในลำคอจะทำให้เจ็บคอและระคายเคืองคอจนกระตุ้นให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้

นอกจากนี้ น้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาสามารถส่งกลิ่นและละอองที่มีฤทธิ์เป็นกรดออกมา เมื่อสูดดมเข้าไปอาจทำให้ปอดระคายเคืองและเกิดอาการไอขึ้น หากใครมีอาการเรื้อรังร่วมกับอาการเรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก และอาหารไม่ย่อยอาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อน

5. โรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่งผลให้เกิดอาการไอได้โดยตรง โดยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยมักจะเป็นกลุ่มของโรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ แต่โรคเหล่านี้มักไม่ทำให้เกิดอาการเรื้อรังหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ส่วนโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่อาจทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังมักเป็นการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง อย่างภาวะเชื้อราในปอด วัณโรค และอาการติดเชื้อในปอดชนิดอื่น ๆ ซึ่งโรคเหล่านี้มักทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ 

หากพบอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับเป็นไข้ติดต่อกันหลายวัน อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ และไอมีเสมหะปนเลือด ควรไปพบแพทย์ทันที

6. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่มักพบในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ อาการหลักของโรคนี้คือ มีเสมหะข้นเหนียวในปริมาณมากอุดตันภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก และหายใจหอบ ในรายที่รุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

7. ผลข้างเคียงจากยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitors)

ผู้ที่ใช้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์จาก 1 คนใน 10 คนอาจพบอาการไอแห้งเรื้อรัง ซึ่งยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์เป็นกลุ่มยาที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคไต โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเบนาซีพริล (Benazepril) ยาอีนาลาพริล (Enalapril) และยาลิซิโนพริล (Lisinopril) 

อาการไอเรื้อรังเป็นผลข้างเคียงที่พบได้จากยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ มักไม่เป็นอันตราย และหายเองภายหลังหยุดใช้ยา แต่ผู้ป่วยห้ามหยุดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงอันตราย หากอาการไอจากการใช้ยาส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือรบกวนการนอนหลับจนทำให้อยากหยุดใช้ยา ผู้ป่วยควรขอคำปรึกษาจากแพทย์

สาเหตุเหล่านี้เป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบได้บ่อย แต่บางครั้งอาการไอเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น เช่น มีสิ่งของหรืออาหารติดในหลอดลม โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchiolitis) และโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) เป็นต้น หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

วิธีรักษาอาการไอเรื้อรังเบื้องต้น

หากพบอาการไอเรื้อรังหรือไอติดต่อกันนานอาจรับมือเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น

คนที่มีอาการไอเรื้อรังไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการไอ เช่น ฝุ่นควัน สารเคมี น้ำหอม ควันบุหรี่ ละอองเกสร อุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ความเครียด เป็นต้น 

หากทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ โรคหืด ภาวะที่ร่างกายไวต่อสารบางอย่างมากกว่าปกติ หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ควรระมัดระวังมากกว่าคนทั่วไป กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการได้รับปัจจัยกระตุ้น พยายามอยู่ในสถานที่ที่สะอาดและปลอดโปร่ง

เลิกบุหรี่

จากสาเหตุในข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่อาการไอเรื้อรัง ดังนั้น การลด ละ เลิกบุหรี่จึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการไอเรื้อรังและลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ได้ สำหรับคนที่มีพฤติกรรมติดบุหรี่ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำ

รักษาอาการไอด้วยวิธีธรรมชาติ

การดูแลตนเองด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ บรรเทาอาการคอแห้ง ระคายคอ ชะล้างสารก่อการระคายเคือง ลดความข้นเหนียวของเสมหะได้ นอกจากนี้ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาจดื่มชาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการระคายคอก็ได้เช่นกัน

ใช้ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรังได้ แต่ไม่ได้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยทั่วไป ยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือยากดอาการไอสำหรับรักษาอาการไอแห้ง ส่วนแบบที่สองเป็นยาแก้ไอที่ใช้รักษาอาการไอแบบมีเสมหะ โดยก่อนการใช้ยาแก้ไอ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีใช้ต่างกันและการใช้ยาไม่ถูกกับอาการอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไปพบแพทย์

หากพบอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับอาการที่อาจเป็นสัญญาณรุนแรง อย่างเป็นไข้สูง เสมหะปนเลือด หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ควรไปพบแพทย์ทันที สำหรับคนที่มีอาการไอเรื้อรังที่ไม่รุนแรงก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน โดยแพทย์จะช่วยหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการไอเรื้อรังและวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้

สุดท้ายนี้ ภายหลังการรักษาด้วยตนเองและการรักษาจากแพทย์ แต่อาการไอเรื้อรังไม่ดีหรือรุนแรงขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้งเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม