ผมแห้งเสียเกิดจากการขาดความชุ่มชื้น การได้รับการบำรุงไม่เพียงพอหรือไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ ทำให้ผมไม่มีน้ำหนัก ชี้ฟู เปราะ และขาดง่าย สาเหตุของผมแห้งเสียมีหลายประการ โดยอาจเกิดจากการดูแลเส้นผมไม่ถูกวิธี สภาพอากาศ อายุ และโรคประจำตัวบางอย่าง
ต่อมไขมันบริเวณรากผมทำหน้าที่ผลิตไขมันตามธรรมชาติ (Sebum) ทำหน้าที่เคลือบเส้นผมชั้นนอกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ภายใน ช่วยให้ผมดูเงางามและมีสุขภาพดี หากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไขมันบริเวณเส้นผม อาจทำให้ผมแห้งเสียได้ บทความนี้จึงได้รวบรวมเทคนิคการฟื้นบำรุงผมแห้งเสียให้กลับมามีสุขภาพดีที่คุณสามารถทำตามได้ง่าย ๆ มาฝากกัน
ผมแห้งเสียเกิดจากอะไร ?
ปัญหาผมแห้งเสียอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
หนังศีรษะแห้ง
เส้นผมที่สุขภาพดีจะมีไขมันตามธรรมชาติที่ให้ความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอ หากรากผมผลิตไขมันออกมาน้อยกว่าปกติ หนังศีรษะและเส้นผมจะขาดความชุ่มชื้น จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมแห้งเสีย
หนังศีรษะแห้งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ สภาพอากาศแห้งและเย็น การสระผมบ่อยเกินไป โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) จากการใช้แชมพูหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผม หรืออายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีหนังศีรษะแห้งอาจมีอาการหนังศีรษะลอกเป็นสะเก็ดหรือมีรังแค ซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจ
การสูญเสียผิวชั้นนอกของเส้นผม
เกล็ดผมหรือผิวชั้นนอกของเส้นผม (Cuticle) เป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเส้นผมจากความร้อนและรังสียูวี (UV) ผิวชั้นนอกของเส้นผมที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะเรียงตัวกันเป็นระเบียบ เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ภายในเส้นผม หากผิวชั้นนอกของเส้นผมถูกทำลาย ผมอาจสูญเสียความชุ่มชื้นและแห้งเสียได้
ปัญหาสุขภาพ
ผมแห้งเสียอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้หลายประการ ได้แก่
- ความผิดปกติของการรับประทานอาหาร เช่น อะนอเร็กเซีย (Anorexia) บูลิเมีย (Bulimia) และภาวะขาดสารอาหาร เป็นต้น
- ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ (Hypoparathyroidism) และภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นต้น
- โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ระดับทองแดงในร่างกายผิดปกติอย่าง Menkes Syndrome
ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ทำให้เส้นผมขาดสารอาหารหรือฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ส่งผลให้ผมแห้ง เปราะ ขาด และหลุดร่วงง่าย
พฤติกรรมการดูแลเส้นผม
การดูแลเส้นผมไม่ถูกวิธี เช่น การสระผมบ่อยเกินไป การใช้แชมพู ครีมนวดผม และผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีฤทธิ์รุนแรง การใช้ความร้อนในการเป่าผม การใช้เครื่องหนีบผม และเครื่องม้วนผมไฟฟ้าเป็นประจำ รวมทั้งการทำสี การยืด หรือการดัดผมโดยใช้สารเคมี อาจเป็นการทำลายเส้นผมและทำให้ผมแห้งเสียได้ง่าย
สภาพแวดล้อม
สภาพอากาศแห้งและมีอุณหภูมิสูง การทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ทำให้ผมสัมผัสแสงแดดและลมบ่อย ๆ หรือการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีน (Chlorine) หรือในน้ำทะเลที่มีเกลือผสมอยู่มาก อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผมแห้งเสียได้
อายุ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เกิดผมหงอก ผมบาง และผมร่วง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ผลิตไขมันที่บริเวณรากผมลดลง ผมจึงแห้งเสียยิ่งขึ้น โดยพบได้บ่อยเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง (Menopause)
เทคนิคฟื้นฟูผมแห้งเสียให้นุ่มสลวย
ผมที่มีสุขภาพดีคือ ผมที่นุ่มสลวย เงางาม มีน้ำหนัก ไม่แห้งเสีย ชี้ฟู หรือพันกัน ซึ่งการดูแลผมให้มีสุขภาพดีนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมและการรับประทานอาหาร เพื่อดูแลสุขภาพผมให้แข็งแรงจากภายใน
-
การสระผม
แชมพูส่วนใหญ่มักประกอบด้วยสารซัลเฟต (Sulfate) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้เกิดฟอง ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่บริเวณหนังศีรษะและเส้นผม รวมทั้งกำจัดไขมันที่จำเป็นต่อเส้นผมและหนังศีรษะ ผู้ที่มีผมแห้งเสียจึงควรเลือกใช้แชมพูที่ไม่มีส่วนผสมของสารซัลเฟต เพื่อป้องกันเส้นผมได้รับสารเคมีและช่วยให้สุขภาพผมที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ หากสระผมด้วยน้ำร้อนเกินไป อาจยิ่งทำให้ผมแห้งมากขึ้น จึงควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็นสระผมเพื่อป้องกันการสูญเสียไขมันตามธรรมชาติของเส้นผม
-
การเติมความชุ่มชื้นให้เส้นผม
การใช้ครีมนวดผมหลังสระผมทุกครั้ง จะช่วยบำรุงเส้นผมและเติมความชุ่มชื้นที่สูญเสียไปหลังการสระผม อาจใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดไม่ต้องล้างออก (Leave-In Conditioner) หรือน้ำมันบำรุงผมหลังการสระผม เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และน้ำมันอาร์แกน (Argan Oil) เป็นต้น โดยเน้นทาบริเวณปลายผม ซึ่งเป็นส่วนที่แห้งและชี้ฟูง่าย
-
การหวีผม
การหวีผมที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ผมหลุดร่วง เปราะ และขาดได้ง่าย หากมีผมพันกัน ควรใช้แปรงหรือหวีซี่ห่างสางผมที่พันกันให้คลายออก ซึ่งจะช่วยป้องกันผมหักงอหรือผมร่วง
หลังสระผมเสร็จ ควรใช้ผ้าขนหนูซับน้ำอย่างเบามือ ไม่ควรเช็ดหรือขยี้ผมแรง ๆ เนื่องจากจะทำให้ผมหลุดร่วงมากขึ้น และควรปล่อยให้ผมแห้งตามธรรมชาติ จากนั้นจึงค่อยหวีผม เพราะการสางผมที่พันกันขณะที่ผมแห้งจะทำได้ง่ายกว่า และลดการขาดร่วงของผมได้ดีกว่าการสางผมเปียก
-
การจัดแต่งทรงผม
การใช้ความร้อนจัดแต่งทรงผมเป็นประจำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมแห้งเสีย จึงไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่ให้ความร้อน อย่างไดร์เป่าผม เครื่องหนีบผม และเครื่องม้วนผมเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรใช้สเปรย์หรือเซรั่มที่ช่วยปกป้องเส้นผมจากความร้อนก่อนเสมอ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีรุนแรงกับเส้นผมบ่อยครั้ง เช่น การทำสี การยืด หรือการดัดผมถาวร เพราะสารเคมีเหล่านี้อาจทำให้ผมแห้งเสียและอ่อนแอ
-
การดูแลผมเพิ่มเติม
แสงแดดจัดและลมแรงอาจทำให้ผมแห้งเสียได้ จึงควรใช้สเปรย์ป้องกันแสงแดดสำหรับเส้นผมก่อนออกจากบ้าน สวมหมวกขณะทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัดเป็นเวลานาน หากพบว่าเส้นผมแห้งเสียจากการถูกทำร้ายของแสงแดด อาจใช้เจลว่านหางจระเข้ชโลมลงบนเส้นผม เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้เส้นผม
สวมหมวกว่ายน้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันเส้นผมจากการสัมผัสคลอรีนโดยตรง ล้างผมให้เปียกก่อนลงสระว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันการดูดซับของคลอรีนเข้าสู่เส้นผม และควรสระผมให้สะอาดหลังจากว่ายน้ำ โดยใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนหรือแชมพูสำหรับใช้หลังว่ายน้ำโดยเฉพาะ เพื่อล้างคลอรีนออกจากเส้นผม แล้วจึงใช้ครีมนวดผมตามปกติ
อีกหนึ่งเคล็ดลับผมสุขภาพดีสำหรับผู้ที่มีผมแห้งคือ การเล็มปลายผมออกเล็กน้อยทุก 6–8 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะช่วยตัดผมที่แตกปลายออกแล้ว ยังทำให้สภาพผมโดยรวมดูสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย
-
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
สารอาหารที่มีประโยชน์ในการบำรุงเส้นผมให้มีสุขภาพดี ได้แก่ โปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม ช่วยให้ผมแข็งแรงไม่เปราะขาดง่าย รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม อย่างธาตุเหล็ก สังกะสี (Zinc) วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี และไบโอติน
-
การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของผมแห้งเสีย
หากมีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการเกิดอาการผมแห้งเสีย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา แพทย์อาจให้รับประทานยาหรือรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและตรงจุด ซึ่งอาจทำให้อาการต่าง ๆ รวมทั้งผมที่แห้งเสียดีขึ้นได้
ผมแห้งเสียมักเกิดจากการดูแลผมไม่ถูกวิธี หรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ผมแห้งเสียอาจเปราะ ขาด และหลุดร่วงได้ง่าย หากปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลเส้นผมแล้วยังไม่สามารถฟื้นฟูผมแห้งเสียให้ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับคำแนะนำในการดูแลเส้นผมอย่างเหมาะสม