โทษของยาเสพติด คือความเสี่ยงหรือผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ยาเสพติด การติดสารเสพติดถือเป็นโรคทางจิตชนิดรุนแรงที่ส่งผลทั้งต่อสมองและพฤติกรรมของผู้เสพ ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจเป็นผลชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ นอกจากตัวผู้เสพเอง ยาเสพติดยังอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบตัวของผู้เสพได้อีกด้วย เช่น ครอบครัว เพื่อน
ยาเสพติดอาจเป็นได้ทั้งพืช สาร หรือสสารใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจจนอาจทำให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อย ๆ สุขภาพร่างกายถดถอยลง และมักมีอาการถอนยาหากไม่ได้ใช้ยา ยาเสพติดอาจเป็นได้ทั้งยาผิดกฎหมาย หรือยาถูกกฎหมายที่ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ได้ ยาเสพติดที่พบบ่อย เช่น โอปิออยด์ แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน และเคตามีน
โทษของยาเสพติด อันตรายต่อชีวิตที่ควรรู้
โทษของยาเสพติดอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของยา แต่ส่วนใหญ่แล้วยาเสพติดมักส่งผลร้ายต่อผู้เสพดังต่อไปนี้
1. นำไปสู่การเสพติด
ยาเสพติดมักจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานตามธรรมชาติของสมอง สารเสพติดอาจเปลี่ยนระบบทำงานของสมองหรือทำลายเซลล์ประสาทเพื่อทำให้เกิดการเสพติด ผู้ที่เสพติดจึงอาจมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เช่น การคิดวิเคราะห์ การจดจำ และการเรียนรู้แย่ลง วางแผนหรือตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้ยากขึ้น อาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง และรู้สึกพอใจหรือมีความสุขกับสิ่งอื่น ๆ ยากขึ้น เนื่องจากมีเพียงแต่ความต้องการในการใช้ยาเสพติด
2. ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ยาเสพติดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้เสพได้ ผู้เสพอาจมีอาการง่วงซึม น้ำหนักลดลง เป็นแผลบริเวณช่องปาก เป็นโรคเหงือก ฟันผุ ระบบทางเดินหายใจบกพร่อง มีอาการตัวสั่น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ
นอกจากนี้ ผู้เสพอาจมีอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิตกกังวล และนอนไม่หลับ
3. ส่งผลให้สภาวะทางจิตแย่ลง
ฤทธิ์ของสารเสพติดมักส่งผลต่อสมองจนทำให้เกิดอาการทางจิตได้ เช่น อาการหลอน หงุดหงิด วิตกกังวล หวาดระแวง โดยยาเสพติดอาจเป็นโทษต่อสภาวะทางจิตได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น โรคจิตเภท โรควิตกกังวล
4. ส่งผลเสียต่อพฤติกรรม
ยาเสพติดอาจทำให้ผู้ใช้ยามีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในครอบครัว ปัญหาทางการเงิน และปัญหาทางสังคมได้ เช่น ผู้ใช้ยาเสพติดอาจไม่สามารถรับผิดชอบภาระงานหรือหน้าที่ของตัวเองได้ อาจลดการทำกิจกรรมในสังคม หรืออยู่คนเดียวมากขึ้น ใช้เงินในการซื้อสารเสพติด ไม่ดูแลสุขอนามัย รูปลักษณ์ และการแต่งตัวของตนเอง
5. เกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
การใช้ยาเสพติดในระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายมากมาย เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกติดเชื้อได้ง่าย ทารกขาดออกซิเจน รวมถึงเสี่ยงต่อการแท้ง ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์หรือขณะคลอด และอาจเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้
หรือเมื่อเกิดมาแล้ว อาจเกิดภาวะของเด็กทารกที่ติดยาแต่กำเนิด น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ มีภาวะเลือดออกในสมอง เซลล์ประสาทถูกทำลาย ไม่ดื่มนมตามปกติ ร้องไห้ไม่หยุด และอาจกลายเป็นเด็กที่มีสมาธิและความจำสั้นเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ การใช้สารเสพติดในระหว่างการให้นมบุตรก็อาจเกิดอันตรายต่อทารกได้เช่นกัน
6. เพิ่มความเสี่ยงติดโรคติดต่อ
ผู้ที่ใช้ยาเสพติดเสี่ยงเป็นโรคติดต่ออย่างโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และโรคไวรัสตับอักเสบซีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เสพ เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดมักส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจของผู้ใช้ยา ทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดอาจมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นในขณะใช้ยาเสพติดได้
7. เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต
ฤทธิ์ของยาเสพติดอาจทำให้ความสามารถการควบคุมร่างกายและใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น กัญชาทำให้สมองตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลง เมทแอมเฟตามีนทำให้ผู้ใช้ยาประมาทและก้าวร้าว ขณะที่โอปิออยด์อาจทำให้ผู้ใช้ยาง่วงซึมได้ ฤทธิ์ของยาเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ยาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ หรือกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ ผู้ใช้สารเสพติดยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากอัตราการฆ่าตัวตายในผู้ใช้ยาเสพติดสูงกว่า และอาจเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดก็ได้
การเข้ารับการรักษาเพื่อหยุดโทษของยาเสพติด
การเสพติดถือเป็นโรคทางจิตอย่างหนึ่งที่ควรได้รับการบำบัดรักษา หากการใช้ยาใด ๆ อยู่เหนือการควบคุม และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้ ผู้ใช้ยาควรรับความช่วยเหลือเพื่อให้หยุดใช้ยาโดยเร็ว ซึ่งทำได้ด้วยการรับการบำบัดยาเสพติดแบบกลุ่มหรือรายบุคคลได้ที่โรงพยาบาล สถาบันหรือศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดของรัฐซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ สามารถใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลได้ หรืออาจเข้ารับบำบัดกับสถานบำบัดของเอกชนก็ได้
การเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ผู้ป่วยอาจได้พบแพทย์ จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา อาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการถอนยา มีการพูดคุยหรือทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันกับผู้ที่บำบัดยาเสพติดเหมือนกัน และอาจมีการขอความร่วมมือจากครอบครัวของผู้ป่วยในกระบวนการบำบัด เพื่อประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดสามารถติดต่อหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาและการบำบัดยาเสพติดได้กับช่องทางต่อไปนี้
- สายด่วน 1165 ซึ่งเป็นสายด่วนสำหรับช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดโดยเฉพาะ
- แอปพลิเคชัน Line ผ่านบัญชีออฟฟิเชียลที่มีชื่อว่า Huai Jai ซึ่งเป็นแชทอัตโนมัติในการให้คำปรึกษา และช่วยการประเมินตนเองเรื่องการเสพติด ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาที่ช่องเพิ่มเพื่อนของไลน์ด้วยคำว่า @1165huangyai
หากผู้ใช้ยาเสพติดมีอาการหายใจสั้น ชัก เจ็บอก หลังการใช้สารเสพติด ควรพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ แม้ว่าการหยุดใช้สารเสพติดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าแก่การพยายาม ผู้ที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดอาจปรึกษาผู้ที่ไว้ใจเพื่อที่จะมีกำลังใจในการหยุดใช้ยา และควรทำตามขั้นตอนการบำบัดรักษาอย่างเคร่งครัด