การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเป็นสัญญาณเริ่มแรกอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะเผชิญ รวมทั้งอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเต้านมจะขยายใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมเจ้าตัวน้อยที่จะได้ออกมาลืมตาดูโลกในไม่ช้า เต้านมของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนั้น มาดูกัน !
เต้านมเปลี่ยนไปอย่างไรในขณะตั้งครรภ์ ?
นอกจากหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีลักษณะของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
- หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ เต้านมของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น และจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อไขมันและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเต้านมเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของต่อมและท่อน้ำนม โดยเต้านมอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมได้ถึง 1-2 ไซส์ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ซึ่งผิวหนังที่ยืดขยายอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคันและมีรอยแตกลายบริเวณเต้านมด้วย
- หัวนมใหญ่ขึ้น ไม่เพียงแต่เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น แต่หัวนมของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และหัวนมก็อาจยื่นออกมามากกว่าเดิมในระหว่างที่ตั้งครรภ์ด้วย
- หลอดเลือดดำบริเวณเต้านมนูนขึ้นมา คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจสังเกตเห็นเส้นเลือดดำใต้ผิวหนังบริเวณเต้านมได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากหลอดเลือดดำจะขยายตัวเพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงเต้านมมากขึ้น นอกจากนี้ ปานนมของคุณแม่อาจมีขนาดใหญ่และมีสีที่เข้มขึ้นด้วย
- น้ำนมไหล ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสังเกตพบว่าตนเองมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาจากหัวนม โดยน้ำนมที่ไหลออกมานั้นเรียกว่าโคลอสทรัม (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกน้อยหลังคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางรายอาจไม่มีอาการนี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์
- มีก้อนที่เต้านม คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณเต้านม โดยก้อนดังกล่าวอาจเป็นถุงบรรจุนม (Galactoceles) หรือก้อนเนื้อไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่หากพบว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม
- มีตุ่มรอบปานนม ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ เกิดขึ้นบริเวณรอบปานนมประมาณ 2-28 ตุ่ม หรือมากกว่านี้ ซึ่งตุ่มเหล่านี้เป็นต่อมผลิตไขมันที่เรียกว่า Montgomery's Tubercles โดยต่อมดังกล่าวจะขยายใหญ่ขึ้นและผลิตน้ำมันเพื่อป้องกันหัวนมและปานนมแห้งหรือแตกในระหว่างที่ตั้งครรภ์ โดยคุณแม่แต่ละรายอาจมีขนาดและจำนวนของตุ่มรอบปานนมที่แตกต่างกันไป
- มีรอยแตกลายที่เต้านม การขยายขนาดของเต้านมอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมยืดและเกิดรอยแตกลายได้ นอกจากนี้ ผิวหนังที่ยืดออกอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคันร่วมด้วย โดยอาการนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์บริเวณเต้านมหลังอาบน้ำและก่อนนอน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
- รู้สึกเจ็บเต้านม เลือด เนื้อเยื่อที่บวม และของเหลวที่ถูกเก็บไว้ในเต้านม อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและคัดเต้านมได้ โดยอาการดังกล่าวมักเป็น 1 ในสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ หลังคลอดลูกน้อยออกมาแล้ว เต้านมก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยเมื่อถึงเวลาที่เจ้าตัวเล็กหย่านม หัวนมของคุณแม่จะกลับมามีสีดังเดิม และเต้านมก็จะกลับมามีขนาดเท่าเดิมก่อนการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผิวหนังที่ยืดออกเป็นเวลานานอาจทำให้เต้านมของคุณแม่มีลักษณะหย่อนคล้อยและมีรอยแตกลายหลงเหลืออยู่
สัญญาณอันตรายที่แฝงมากับการเปลี่ยนแปลงของเต้านม
แม้การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเต้านมในลักษณะต่าง ๆ มากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจมีอาการคล้ายคลึงกับสัญญาณของโรคร้ายอย่างมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรใส่ใจตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือเข้ารับการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆ อย่างมีก้อนผิดปกติ รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หัวนมบุ๋ม มีอาการแดง หรือเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นเพียงข้างเดียว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที