เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอ โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำและอาหาร มีอาการไอ เสียงแหบ มีไข้ หนาวสั่น และอาจมีอาการคอบวมจากต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งโดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นได้เองหลังจากการดูแลตัวเองที่บ้าน แต่หากมีอาการรุนแรงอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาอย่างเหมาะสม
ทอนซิลอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ แต่บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน หากเริ่มมีอาการทอนซิลอักเสบอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบรักษาทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามและเชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งทำให้เกิดโรคอื่นตามมา เช่น หูชั้นกลางอักเสบ มีหนองในคอ ไซนัสอักเสบ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการที่พบเมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ
อาการที่พบได้บ่อยเมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ มีดังนี้
- เจ็บคอมาก โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำและอาหาร
- มีตุ่มร้อนในสีขาวหรือสีเหลืองขึ้นในช่องปาก ลำคอ และที่ต่อมทอนซิล
- คันคอ ไอ เสียงแหบ
- ต่อมทอนซิลบวมแดง
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- ปวดหู
- ปวดศีรษะ มีไข้สูง
- ปวดคอ และคอแข็ง
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
- เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน
การดูแลรักษาเมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ
การรักษาอาการต่อมทอนซิลอักเสบอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทอนซิลอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาการมักดีขึ้นภายใน 3–4 วัน โดยสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
1. พักผ่อนมาก ๆ
เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบมักทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ และมีไข้ การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการฟื้นฟูร่างกายให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ควรงดการใช้เสียงในช่วงที่มีอาการทอนซิลอักเสบ เนื่องจากจะช่วยลดอาการเจ็บคอ ไอ และเสียงแหบได้
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ โดยอาจดื่มน้ำอุ่น และเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น ชาสมุนไพร น้ำขิง และน้ำผึ้งผสมมะนาว เพื่อช่วยให้คอชุ่มชื้น ลดอาการเจ็บคอ คันคอ ไอ และป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากการมีไข้และอาเจียน
3. ใช้สเปรย์พ่นคอ
การใช้สเปรย์พ่นคอเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาและทำให้อาการทอนซิลอักเสบหายได้เร็วขึ้น โดยฉีดได้ทันทีเมื่อมีอาการระคายคอ ทั้งนี้ ควรเลือกสเปรย์ที่มีส่วนผสมจากสารธรรมชาติและสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและอาการไอที่เกิดจากการอักเสบของต่อมทอนซิล รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการร้อนใน เช่น
- มีส่วนผสมของเยอรมันคาร์โมไมล์ ซึ่งมีส่วนประกอบของสารเทอร์ปีนอยด์ (Terpenoids) เช่น อัลฟาไบซาโบลอล (Alpha Bisabolol) และสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ อย่างเอพิจินีน (Apigenin) ซึ่งผลการวิจัยพบว่ามีคุณสมบัติลดการอักเสบในเยื่อบุช่องปากและลำคอ ช่วยให้แผลหายเร็ว ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยให้ชุ่มคอ
- มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสมุนไพร เช่น เปปเปอร์มินต์ ยูคาลิปตัส และเซจ (Sage) มีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ต้านการอักเสบในช่องปากและลำคอ จึงช่วยบรรเทาการเจ็บคอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลือกใช้สเปรย์พ่นคอเพื่อรักษาอาการทอนซิลอักเสบ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งผลิตน่าเชื่อถือ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาอย่างถูกต้อง โดยเอกสารกำกับยาบนฉลากควรระบุส่วนผสม สรรพคุณ และวิธีใช้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก และหากมีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ควรระมัดระวังและเลือกสเปรย์ที่ไม่มีส่วนผสมจากผึ้ง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
4. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดการอักเสบ และรักษาอาการติดเชื้อที่เกิดจากทอนซิลอักเสบ โดยผสมเกลือ 1/4–1/2 ช้อนชากับน้ำอุ่นประมาณ 240 มิลลิลิตร จากนั้นนำมากลั้วคอโดยอมน้ำเกลือไว้ในปากประมาณ 2–3 วินาที แล้วบ้วนทิ้ง
5. ใช้เครื่องทำความชื้น
สภาพอากาศที่แห้งอาจทำให้ปากและคอแห้ง เจ็บคอ และไอมากขึ้น โดยเฉพาะในห้องนอนที่อากาศทั้งแห้งและเย็น การใช้เครื่องเพิ่มความชื้น (Humidifier) จึงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศและบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
6. รับประทานอาหารอ่อน
อาการเจ็บคอจากทอนซิลอักเสบมักทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อกลืนอาหาร และทำให้ไม่อยากอาหาร การรับประทานอาหารที่มีรสอ่อนและสามารถเคี้ยวกลืนได้ง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม และซุปอุ่น ๆ จะช่วยให้รู้สึกสบายคอ และรับประทานอาหารได้ดีขึ้น
7. รับประทานยาแก้ปวด
เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ อาการที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการเจ็บคอคือปวดศีรษะและมีไข้ การรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้ โดยยาพาราเซตามอลมีทั้งยาน้ำสำหรับเด็ก และยาเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ ควรรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลาก
8. ไปพบแพทย์
หากอาการทอนซิลอักเสบไม่ดีขึ้นภายใน 4 วันหลังดูแลตัวเอง มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอตลอดเวลาต่อเนื่องกันเกิน 48 ชั่วโมง กลืนลำบาก หายใจลำบาก อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
แพทย์อาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน ต่อเนื่องกันประมาณ 10 วันในกรณีที่ต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ ผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล และผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรังและมีอาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจให้ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก
เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบควรดูแลตัวเองทันที เนื่องจากการปล่อยไว้อาจทำให้อาการหายช้า เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และทำให้เกิดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) และไข้รูมาติก (Rheumatic Fever)
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 31 สิงหาคม 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD
เอกสารอ้างอิง
- Sah, et al. (2022) A Comprehensive Study of Therapeutic Applications of Chamomile. Pharmaceuticals (Basel). 15 (10), pp. 1284.
- de Lima Dantas, et al. (2022). Action of Matricaria recutita (chamomile) in the management of radiochemotherapy oral mucositis: A systematic review. Phytotherapy research : PTR. 36 (3), pp. 1115-1125.
- Dai, et al. (2022). Chamomile: A Review of Its Traditional Uses, Chemical Constituents, Pharmacological Activities and Quality Control Studies. Molecules (Basel, Switzerland). 28 (1), pp.133.
- Raal, et al. (2012). Content of essential oil, terpenoids and polyphenols in commercial chamomile (Chamomilla recutita L. Rauschert) teas from different countries. Food Chemistry. 131 (2), pp. 632-638.
- NHS Inform (2023). Tonsillitis.
- Mayo clinic (2022). Tonsillitis.
- Family Doctor (2023). Tonsillitis.
- Raman, R. Healthline (2023). 12 Health Benefits and Uses of Sage.
- Gotter, A. Healthline (2023). Home Remedies for Tonsillitis.
- White, A. Healthline (2023). What Are the Benefits of a Salt Water Gargle?.
- Santos-Longhurst , A. Healthline (2019). How to Recognize and Treat a Canker Sore on Your Tonsil.
- Brusie, C. Healthline (2019). What Are the Best Teas for Soothing a Sore Throat?.
- McDermott, A. Healthline (2018). 9 Essential Oils for Treating Sore Throats.
- Dunkin, D.A. WebMD (2023). Tonsillitis.