8 วิธีแก้ร้อนใน ปัญหากวนใจในช่องปาก

วิธีแก้ร้อนในมีหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการร้อนใน และการใช้ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป  โดยทั่วไปอาการร้อนในมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นร้อนในรุนแรงอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์ ซึ่งการดูแลรักษาจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยให้ตุ่มร้อนในหายเร็วขึ้น และช่วยป้องกันการติดเชื้อ

ร้อนในเป็นโรคที่เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อบุผิวในช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม ด้านข้างหรือใต้ลิ้น และโคนเหงือก มีลักษณะเป็นตุ่มวงรีสีขาวเหลืองและมีขอบสีแดง ทำให้รู้สึกเจ็บปวดโดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารและแปรงฟัน ร้อนในอาจเกิดจากความเครียด การรับประทานอาหารรสจัด แผลในช่องปาก และการขาดวิตามินบางอย่าง

วิธีแก้ร้อนใน

วิธีแก้ร้อนในที่ทำได้ง่าย ๆ 

หากเป็นร้อนใน ลองใช้วิธีแก้ร้อนในต่าง ๆ เหล่านี้ อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และช่วยให้อาการร้อนในหายดีขึ้นได้เร็วขึ้น

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

อาหารหลายชนิดอาจทำให้รู้สึกเจ็บแผล และให้อาการร้อนในแย่ลงหรือหายช้าลง ขณะที่เป็นร้อนในจึงควรใช้วิธีแก้ร้อนในด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

  • อาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจนเกินไป เช่น ซุป ชาร้อน และกาแฟร้อน
  • อาหารรสเผ็ดหรือเค็มจัด เช่น แกงเผ็ด ขนมขบเคี้ยว ถั่วคั่วเกลือ
  • อาหารและผลไม้รสเปรี้ยวหรือมีความเป็นกรดสูง เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ สับประรด รวมทั้งน้ำผลไม้ ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มสายชู และมัสตาร์ด
  • อาหารที่ใช้การทอดและมีน้ำมันมาก

นอกจากนี้ สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต หรือที่เรียกว่าสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ที่เป็นส่วนผสมในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก อาจทำให้เกิดอาการร้อนในซ้ำได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารนี้ในช่วงที่มีอาการร้อนใน เพื่อช่วยลดการเกิดอาการร้อนใน

2. ใช้น้ำยาบ้วนปาก

วิธีแก้ร้อนในด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นประจำจะช่วยให้อาการร้อนในหายดีได้เร็วขึ้น ควรเลือกน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอร์เฮกซิดีน(Chlorhexidine) ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก บรรเทาอาการร้อนใน และลดการอักเสบได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เยื่อบุช่องปากเกิดการระคายเคือง และทำให้อาการร้อนในรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ นำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของรินซินอล (Rincinol) และลิโดเคน (Lid ocaine) ที่ทำให้รู้สึกชา อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลร้อนในได้ โดยมีวิธีใช้คือกลั้วให้ทั่วช่องปาก โดยเฉพาะบริเวณที่มีแผลร้อนในเป็นเวลา 2–3 นาที แล้วบ้วนทิ้ง หรือใช้ตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์

3. ผสมน้ำยากลั้วปากใช้เอง

นอกจากวิธีแก้ร้อนในด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก เราสามารถผสมน้ำยากลั้วปากเพื่อรักษาร้อนในได้เอง โดยอาจใช้วัตถุดิบที่มีในบ้าน หรือหากซื้อได้ง่าย เช่น

  • กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่นครึ่งแก้ว อมน้ำเกลือและกลั้วให้ทั่วปากเป็นเวลา 15–30 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง ทำซ้ำทุก 2–3 ชั่วโมง เกลือจะช่วยให้แผลร้อนในแห้งลง
  • กลั้วปากด้วยน้ำผสมเบคกิ้งโซดา ผสมเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชากับน้ำสะอาดครึ่งแก้ว กลั้วให้ทั่วปากเป็นเวลา 15–30 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง เบคกิ้งโซดาจะช่วยปรับสมดุลกรดและด่าง ลดการอักเสบในช่องปาก ซึ่งอาจช่วยให้อาการร้อนในหายเร็วขึ้น
  • กลั้วปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับน้ำ กลั้วให้ทั่วช่องปากเป็นเวลา 1 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ช่วยทำความสะอาดแผลและช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

นอกจากนี้ สามารถใช้คอตตอนบัดหรือสำลีชุบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ผสมกับน้ำในปริมาณเท่ากัน ทาบริเวณที่เป็นร้อนในวันละ 2–3 ครั้ง หรือทามิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) ที่แผลร้อนใน ทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออก ก็อาจช่วยลดอาการปวดและระคายเคืองแผลร้อนในได้

4. รักษาด้วยสารธรรมชาติ

สารจากธรรมชาติหลายชนิดอาจช่วยรักษาร้อนในให้หายเร็วขึ้นได้ เช่น

  • ประคบแผลร้อนในด้วยถุงชาคาโมมายล์ โดยนำถุงชาที่แช่ในน้ำอุ่นประคบที่แผล ทิ้งไว้ 2–3นาที แล้วบ้วนปากด้วยชาคาโมมายล์ สารอะซูลีน (Azulene) และเลโวมีนอล (Levomenol) ในคาโมมายล์อาจช่วยลดการอักเสบและติดเชื้อของแผลร้อนในได้
  • ทาน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) ที่แผลร้อนในวันละ 3–4 ครั้ง ซึ่งน้ำผึ้งมานูก้าเป็นน้ำผึ้งที่ไม่ผ่านการกรองและการพาสเจอไรส์ (Pasteurized) จึงยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มากกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น ซึ่งอาจช่วยลดการระคายเคือง บรรเทาความเจ็บปวด และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่แผล
  • ทาน้ำมันมะพร้าวที่แผลร้อนในวันละ 2–3 ครั้ง น้ำมะพร้าวมีกรดลอริก (Lauric Acid) ที่ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียและป้องกันเชื้อแพร่กระจาย จึงอาจช่วยมห้อาการร้อนในดีขึ้น

5. ใช้ยาทาแก้ร้อนใน

ยาทาแก้ร้อนในมีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองและชนิดที่แพทย์สั่ง โดยอาจอยู่ในรูปขี้ผึ้ง เจล ครีม และน้ำ โดยป้ายยาลงบริเวณที่เป็นแผล โดยปาดเป็นฟิล์มบาง ๆ ให้ทั่วแผล หากทาทันทีที่เกิดแผลจะช่วยลดอาการเจ็บปวด และทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งยาทาแผลร้อนในมักมีส่วนผสมของสารต่าง ๆ เช่น เบนโซเคน (Benzocaine) ไตรแอมซิโนโลน อะซีโทไนด์ (Triamcinolone Acetonide)  และลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ (Lidocaine hydrochloride)

นอกจากนี้ อาจใช้แผ่นแปะแผลร้อนในที่มีชั้นของตัวยาอยู่ เมื่อแปะลงบนแผลร้อนในจะยึดเกาะกับแผลได้ดี ตัวยาในแผ่นแปะจะกลายเป็นเจลเคลือบแผลและค่อย ๆ ซึมเข้าสู่แผล ทำให้แผลร้อนในหายดีได้ 

ส่วนยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) และยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) แพทย์อาจสั่งจ่ายให้หากมีอาการร้อนในรุนแรง

6. รับประทานยา

หากมีอาการปวดแผลร้อนใน สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ได้ และในบางกรณี แพทย์อาจสั่งจ่ายยารับประทานอื่น ๆ เช่น ซูคราลเฟต (Sucralfate) ยาโคลชิซีน (Colchicine) และยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยรักษาร้อนในด้วย

7. ดูแลสุขภาพช่องปาก

ขณะที่เป็นร้อนในควรระมัดระวังในการดูแลความสะอาดภายในช่องปากเป็นพิเศษ โดยแปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน ไม่แปรงฟันแรงเกินไปและไม่ควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง เพราะจะทำให้เกิดแผลที่เหงือกและทำให้อาการร้อนในแย่ลงได้ นอกจากนี้ ควรไปตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์อย่างน้อยทุก 6 เดือน

8. รับประทานวิตามินเสริม

อาการร้อนในอาจเกิดจากการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด เช่น สังกะสี เหล็ก กรดโฟลิค เพราะแร่ธาตุเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างเยื่อบุกระพุ้งแก้มและภายในปาก หากได้ได้รับแร่ธาตุเหล่านี้ไม่เพียงพออาจกระตุ้นให้เกิดร้อนในได้ การรับประทานอาหารและอาหารเสริมที่มีวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้อาจช่วยป้องกันอาการร้อนในได้ 

นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินบีรวม วิตามินซี และไลซีน (Lysine) ในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการร้อนในอาจช่วยให้แผลร้อนในหายได้เร็วขึ้นได้ด้วย

โดยปกติแล้ว แผลร้อนในมักหายได้เองภายใน 7–10 วัน หากใช้วิธีแก้ร้อนในต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บปวดขณะรับประทานอาหารและแปรงฟัน และช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการร้อนในเกิน 14 วัน โดยที่อาการรุนแรงขึ้น เช่น ตุ่มร้อนในใหญ่ขึ้นผิดปกติ รู้สึกเจ็บปวดมาก มีแผลในปาก ร่วมกับมีไข้ หรือมีอาการร้อนในบ่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาต่อไป